เดวิด อาร์.ลอย ศาสตราจารย์ทางจริยศาสตร์
ศาสนาและสังคมมหาวิทยาลัยเซเวียร์ และเป็นอาจารย์เซ็นในสายโกอุน ยามาดา
เขียนไว้ในหนังสือ “เงิน กามารมณ์ สงคราม และกรรม
บันทึกเพื่อการปฏิวัติแนวพุทธ” (พรรณงาม เง่าธรรมสาร แปล) หน้า 112 ว่า
บางครั้งข้าพเจ้าสงสัยว่าพระองค์จะทรงคิดอย่างไรเกี่ยวกับพุทธ
ศาสนาในปัจจุบัน พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนพุทธศาสนา
เราอาจพูดได้แม้กระทั่งว่าพระองค์ไม่ได้ทรงเป็นชาวพุทธ
ในทำนองเดียวกับที่พระเยซูไม่เคยเป็นชาวคริสต์ พระศากยมุนีทรงสอน “ธรรม”
พุทธศาสนาไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน แต่เป็นสิ่งที่ทรงเริ่มต้น
พุทธศาสนาตามที่เรารู้จักเป็นสิ่งที่พระธรรมและคณะสงฆ์พัฒนาขึ้นในช่วงหลาย
ศตวรรษ ในดินแดนและวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย
พระองค์จะทรงพอใจกับสิ่งที่เป็นผลจากความพยายามของพระองค์หรือไม่?
สมมติเราตั้งคำถามว่า
“พุทธะจะพอใจกับพุทธศาสนามรดกสมบูรณาญาสิทธิรายชย์แบบไทยหรือไม่?”
จะตอบคำถามนี้ได้ เราต้องตอบคำถามว่า
“เรายอมรับหรือไม่ว่าพุทธศาสนาแบบไทยที่ว่านี้แตกต่างจากพุทธแบบดั้งเดิม
อย่างสิ้นเชิง”
ในแง่ “สังฆะ”
ซึ่งเป็นชุมชนที่พุทธะก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างวิถีชีวิตที่เรียบง่าย
สะดวกแก่การเรียนรู้ และพัฒนาชีวิตเพื่ออิสรภาพตามหลักไตรสิกขานั้น
แต่สังฆะปัจจุบันเป็นระบบที่ซับซ้อนเพราะถูกทำให้ผูกโยงกับปมเงื่อนของยศ
ศักดิ์ อำนาจ และผลประโยชน์
ชุมชนแห่งสังฆะจึงไม่ได้สร้างวิถีชีวิตเรียบง่าย
และวัฒนธรรมการเรียนรู้เพื่ออิสรภาพตามหลักไตรสิกขาอย่างพุทธกาล
ทว่าถูกทำให้กลายเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์อุดมการณ์รัฐแบบเก่า คือ
“อุดมการณ์ราชาชาตินิยมศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งมีลักษณะเป็น “ศาสนาทางโลก” หรือ
secular religion
ที่เน้นการบูชาความศักดิ์สิทธิ์ของตัวบุคคลเหนือระบบอันส่งผลให้รัฐไทยเป็น
“รัฐกึ่งศาสนา” ในความหมายว่า “กึ่งข้างบน” คือ secular religion ที่ครอบ
“กึ่งข้างล่าง” ซึ่งเรียกว่าระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง
แต่รัฐบาลไม่มีอำนาจในการทำให้กึ่งข้างบนอยู่ภายใต้หลักการประชาธิปไตยได้
เลย เช่น จะแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้
แตะรัฐธรรมนูญหมวดสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ เป็นต้น
ยิ่งกว่านั้น
อุดมการณ์ราชาชาตินิยมศักดิ์สิทธิ์ยังถูกใช้เป็นฐานอ้างอิงในการทำรัฐประหาร
และการปราบปรามนักศึกษาประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยตลอดมา
ในแง่หลักคำสอนของพุทธศาสนาที่แต่เดิมเป็น “ธรรมะธรรมดา”
อันเป็นคำอธิบายความจริงเรียบง่าย
ตรงไปตรงมาตามกฎธรรมชาติที่ว่าด้วยความทุกข์และความดับทุกข์อย่างมีเหตุมีผล
นั้น ก็ถูกตีความให้กลายเป็น “ธรรมะศักดิ์สิทธิ์” ที่มีความหมายซับซ้อน
เหนือเหตุผล
ธรรมะอันเป็นหลักคิดและวิถีชีวิตเพื่อการเป็นคนธรรมดาไม่เบ่งอัตตาตัวตน
กลับกลายเป็นเครื่องมือเชิดชูความวิเศษของอัตตาตัวตน หรือของ “ตัวบุคคล”
จนกลายเป็น “พระผู้มีญาณวิเศษ” เหนือการตรวจสอบด้วยวินัยสงฆ์
หรือเป็นเครื่องมือยกย่อง “ความศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นปกครอง”
ให้อยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ
ฉะนั้น
ธรรมะศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้สนับสนุนลัทธิบูชาตัวบุคคลเหนือหลักการ
และระบบสังฆะที่เป็นเครื่องมือสนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยมศักดิ์สิทธิ์
จึงไม่ใช่ธรรมะตามที่พุทธะสอนแน่ๆ
และไม่ใช่สังฆะที่พุทธะประสงค์จะก่อตั้งขึ้นมาแน่ๆ
นี่คือความจริงที่เราปฏิเสธไม่ได้
แต่พูดแบบนี้แล้วบรรดาผู้ที่มักมองอย่าง “เหมารวม” และชอบ “แขวนป้าย”
อาจจะบอกว่าผมกำลังชวนให้กลับไปมีวิถีชีวิตแบบพุทธดั้งเดิมอย่างสมัยโบราณ
อย่างนั้นหรือ? หรือผมเป็นพวก Fund amentalists’
ที่เชื่อว่ามีคำสอนที่ถูกต้องตายตัวในพระไตรปิฎก
ไม่ยอมรับการตีความพุทธศาสนาอย่างสัมพันธ์กับบริบทสังคม และวัฒนธรรม
เช่นนั้นหรือ?
คำตอบคือ
ผมไม่คิดว่าคนที่ตั้งคำถามกับพุทธศาสนาในปัจจุบันอย่างวิพากษ์
และมองย้อนไปหาหลักธรรมที่พุทธะสอนในยุคแรกเริ่มอย่างวิพากษ์จะถูก
“เหมารวม” ว่าเป็นพวก Fundamentalists อย่างง่ายๆ
ท่านพุทธทาสเองก็อ้างพระไตรปิฎกเสมอๆ ในการอธิบายแทบทุกเรื่อง
แต่ในขณะเดียวกันท่านก็บอกให้ฉีกพระไตรปิฎกทิ้งสัก 70 เปอร์เซ็นต์ก็ยังได้
เช่นเดียวกันคำพูดของเดวิด ลอย ข้างต้นก็ไม่ใช่จะถูก “แขวนป้าย” ได้ง่ายๆ
ว่าเป็นคำพูดแบบ Fundamentalism
บังเอิญผมเพิ่งอ่าน ‘The Power of Simplicity’
ในวารสารปัญญาเวอร์ชันภาษาอังกฤษของอาจารย์สมภาร พรมทา
ตอนหนึ่งอาจารย์สมภารยกนิทานเซ็นมาว่า
วันหนึ่งอาจารย์เซ็นกับบรรดาลูกศิษย์กำลังทำงานอยู่ในไร่
อาจารย์หยิบผลแคร็อทขึ้นมาแล้วถามว่า
“วิธีที่ที่ดีที่สุดที่เราควรจะทำกับผลแคร็อทในมือนี้คืออะไร?”
ลูกศิษย์คนหนึ่งที่ยอมรับกันว่าฉลาดที่สุดตอบไปทันทีว่า “เราควรจะมองผลแคร็อทนั้นว่าเป็นเพียงความว่างเปล่า” อาจารย์นิ่งเงียบ
แล้วลูกศิษย์อีกคนก็ตอบว่า “เราควรบริจาคผลแคร็อทนี้ให้คนจน
เพื่อเป็นการสั่งสมบุญกุศลของเราเอง” อาจารย์ก็นิ่งเงียบอีก
เมื่อคำตอบอื่นๆ ของลูกศิษย์อีกหลายคนยังไม่เป็นที่พอใจ
อาจารย์จึงหันไปทางลูกศิษย์คนหนึ่งที่ถูกมองจากเพื่อนๆ ว่าโง่ที่สุด
พร้อมกับถามว่า “แล้วเจ้าล่ะคิดยังไง?”
ศิษย์โง่คนนั้นไม่ได้พูดอะไร
แต่เขาเดินไปคว้าผลแคร็อทจากมืออาจารย์มาเคี้ยวกินหน้าตาเฉย
อาจารย์ปรบมือหัวเราะเสียงดัง “โอ ใช่! โอ ใช่!”
นิทานจบแค่นี้ อาจารย์สมภารตีความ (โดยผมสรุปอีกที) ว่า
คำตอบของศิษย์คนแรกนั้นเป็นการทำให้ของง่ายๆ
กลายเป็นของที่มีความหมายซับซ้อนเชิงอภิปรัชญาขึ้นมาโดยไม่จำเป็น
ขณะที่ศิษย์คนที่สองทำให้เกิดความซับซ้อนด้วยการสร้างความคิดเรื่องการ
สั่งสมบุญกุศลขึ้นมา
ส่วนศิษย์คนที่โง่ที่สุดคือคนที่บอกวิธีปฏิบัติต่อผลแคร็อทอย่างเป็น
ธรรมชาติ เรียบง่าย ตรงไปตรงมา ไม่ปรุงแต่ง
แล้วอาจารย์สมภารก็อธิบายว่าคำสอนของพุทธะยุคแรกเริ่มนั้น
เป็นคำสอนที่อธิบายความจริงในธรรมชาติอย่างตรงไปตรงมาง่ายๆ
ไม่ได้มีความซับซ้อนในเชิงอภิปรัชญา หรือมีความหมายแบบ “ธรรมะศักดิ์สิทธิ์”
เช่นที่ผมยกตัวอย่างข้างต้น (อย่างนี้จะแขวนป้ายว่า อ.สมภารเป็น
Fundamentalist อีกไหม?)
จากตัวอย่างข้างต้น
ทำให้เราคิดต่อได้ว่าความทุกข์ในชีวิตปัจเจกและทุกข์ทางสังคมหลายๆ อย่าง
มักถูกทำให้ยุ่งยากซับซ้อนเกินจริงขึ้นมาทั้งด้วยวิธีคิดของตัวเราเอง
ด้วยการปลูกฝังอบรมทางศาสนา จารีตประเพณี ด้วยระบบสังคม เศรษฐกิจ การเมือง
หรือระบบโลก
จนความซับซ้อนเหล่านั้นมาบดบังไม่ให้เราเห็นความจริงตามที่มันเป็น
และสูญเสียการคิดอย่างเรียบง่าย ตรงไปตรงมา
บางครั้งความซับซ้อนที่สร้างขึ้นเหล่านั้นมันก็กลายเป็นโซ่ตรวนพันธนาการไม่
ให้เราพูดความจริง หรือวิพากษ์วิจารณ์ความถูก
ผิดตามหลักการได้อย่างซื่อสัตย์ เปิดเผย ตรงไปตรงมาอีกด้วย
ผมคิดว่า
ปัญหาความขัดแย้งในบ้านเราเป็นเรื่องที่ถูกทำให้ซับซ้อนจนเกินเหตุ
และความซับซ้อนที่ถูกสร้างขึ้นในนาม “ความศักดิ์สิทธิ์” หรือ
“เรื่องละเอียดอ่อน” พูดตรงๆ ไม่ได้อะไรต่างๆ
นั้นก็กลายเป็นปมเงื่อนของความขัดแย้ง และความรุนแรงจนแก้ไม่ตก
ทั้งที่จริงๆ แล้ว ถ้าคิดอย่างเรียบง่ายตรงไปตรงมา หรือคิดอย่าง
“สมเหตุสมผล” ก็จะทำให้เรามองเห็นปัญหาที่ “สาเหตุหลัก” อย่างตรงไปตรงมา
เข่นวิธีคิดแบบอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล คือ ต้องสร้าง “กติกา”
หรือระบบสังคมการเมืองให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้หลักการประชาธิปไตยใน
มาตรฐานเดียวกันกับทุกสถาบันในสังคม
เพราะการทำให้สถาบันอยู่เหนือการวิจารณ์ตรวจสอบ
แต่กลับมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้านดีเพียงด้านเดียวโดยห้ามโต้แย้ง
หรือเสนอข้อมูลด้านตรงข้ามมาหักล้างนั้น เป็นเรื่องที่
“ผิดธรรมชาติอย่างยิ่ง” ไม่ว่าจะมองจากหลัก “ความรู้” สมัยใหม่ที่ต้องมี
“ความเป็นวิทยาศาสตร์” หรือวัฒนธรรมทางสังคมการเมืองสมัยใหม่ที่ต้องมี
“ความเป็นประชาธิปไตย” ที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจมีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบ
และทุกสถาบันต้องดำรง “ความน่าเชื่อถือ” บนพื้นฐานของความโปร่งใสตรวจสอบได้
หลายปีมานี้สังคมเราทะเลาะ ขัดแย้ง ทำร้าย เข่นฆ่ากัน
และยังไม่รู้ว่าความขัดแย้งที่สืบเนื่องมานี้จะนำไปสู่การเข่นฆ่าอีกหรือไม่
หากคิดอย่างตรงไปตรงมาแล้วเราก็ย่อมเข้าใจได้ว่า
ถ้าระบบสังคมการเมืองยังเป็นแบบเก่า แบบที่สถานะ อำนาจ
บทบาทของสถาบันกษัตริย์ยังถูกวิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้
และยังสามารถจะถูกอ้างอิงเพื่อทำรัฐประหารได้เสมอ
เราก็ย่อมเข้าใจได้ว่าความขัดแย้งและความรุนแรงแบบเก่าๆ
ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ
หากพุทธะสอนให้เรามองความจริงตามที่มันเป็นอย่างตรงไปตรงมา
และมีวิธีคิดที่เรียบง่าย ปราศจากอคติในการทำความเข้าใจความจริงของปัญหา
และในการหาวิธีแก้ปัญหาอย่างตรงกับสาเหตุที่แท้จริง
พุทธศาสนาในบ้านเราที่ไม่เคยสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการพูดความจริง
อย่างตรงไปตรงมา แต่เป็นพุทธศาสนาที่สร้างมายาคติ “อำนาจศักดิ์สิทธิ์” และ
“บุคคลศักดิ์สิทธิ์” ขึ้นมาอยู่เหนือหลักการ
ก็ไม่ใช่พุทธศาสนาอย่างที่พุทธะสอน
และพุทธศาสนาตามที่เป็นอยู่นี้ก็ไม่มีประโยชน์อะไรต่อการปลด
ปล่อยปัจเจกบุคคลและสังคมให้มีอิสรภาพ นอกจากเป็น “ศาสนายากล่อมประสาท”
เท่านั้นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น