แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556

นักข่าวต่างประเทศฟังปัญหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กูเกิลห่วงไทยเสียโอกาสธุรกิจ

ที่มา ประชาไท



8 ม.ค.56 สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) จัดอภิปรายเรื่อง ผลกระทบจากพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยมีวิทยากรคือ สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งทีมวิจัยเกี่ยวกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ทำร่วมกับโครงการอินเทอร์เน็ต เพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)  และ แอน ลาวิน เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายสาธารณะของกูเกิล และตัวแทนจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) โดยงานนี้ได้รับความสนใจจากผู้สื่อข่าวต่างประเทศมากพอสมควร
แอน ลาวิน  (Ann Lavin) ตัวแทนจากบริษัทกูเกิล กล่าวว่า   ไทยไม่ค่อยสนับสนุนในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็นมากนัก แต่เราในฐานะที่เชื่อมั่นในการแสดงความเห็นเราต้องต่อสู้เพื่อสิ่งนี้  ซึ่งจะเกิดในสังคมประชาธิปไตยที่มีหลักนิติรัฐ
แอนชี้ว่า ประเด็นสำคัญ คือ อาชญากรรมนั้นไม่แตกต่างกัน ไม่ว่ามันจะในออนไลน์หรือออฟไลน์ ซึ่งก็มีกฎหมายดูแลอยู่แล้ว และปัญหาสำคัญของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์คือ มาตรา 15  กำหนดให้ผู้ให้บริการต้องรับโทษเท่ากับผู้กระทำผิด ทุกวันนี้เนื้อหาบริการต่างๆ ของกูเกิล เป็นภาษาไทยแค่ 1% เท่านั้น ในอินเทอร์เน็ตมีเนื้อหาที่น่าสนใจมากมายที่น่านำเสนอเป็นภาษาไทย แต่กูเกิลก็ยังไม่ตัดสินใจลงทุนตั้งสาขาในไทย เพราะแม้แต่คนไทยเองก็กลัวกฎหมายเหมือนกัน เวลาที่พูดเรื่องการเมืองหรือประวัติศาสตร์
 “เราทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์  เมื่อเราทำวิจัยเราพบว่า ประชาชนห่วงกังวลในเรื่องของข้อกฎหมายมาก และไมเข้าใจกฎหมาย นี่คือเรื่องที่เสี่ยงมากๆ  เป็นความเสี่ยงต่อการลงทุนทั้งในด้านสื่อและอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย” แอนกล่าว
เธอยังยกตัวอย่างของยูทูบ ผลิตภัณฑ์หนึ่งของกูเกิลซึ่งมีสาขาในสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย แต่ไม่มีสาขาในประเทศไทย ด้วยเหตุผลหลักก็คือ มาตรา 15 ใน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ขณะที่ทั่วโลกมีช่องทางทำเงินจากยูทูบมากมาย แต่สิ่งนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย และทำให้ไทยพลาดโอกาสทำเงินไปอย่างมาก เพราะกฎหมายเป็นอุปสรรค ไม่รู้ว่าจะถูกแบนเมื่อใด
เธอกล่าวว่า ภายใต้กฎหมายแบบนี้ เป็นอุปสรรคที่สำคัญสำหรับธุรกิจด้านไอที เว็บไซต์ต่างๆ จ่ายเงินมากมายไปกับนักกฎหมาย ไม่มีระบบอะไรที่จะปกป้องสัญญาหรือปกป้องตัวเอง พวกเขาจ่ายเงินมากมายไปกับการปกป้องตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์
สาวตรี สุขศรี กล่าวถึงข้อสรุปสำคัญของงานวิจัย ‘ผลกระทบจากพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และนโยบายของรัฐกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น’  ซึ่งเผยแพร่เมื่อปลายปีที่แล้วว่า
  1. สถิติจำนวนคดีความ ตั้งแต่ 2550 – ธ.ค. 2554  (4 ปี 6 เดือน นับจากประกาศใช้พ.ร.บ.คอมฯ) มีจำนวนคดีทั้งสิ้น 325 คดี แยกเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับระบบ หรือ อาชญากรรมคอมพิวเตอร์โดยแท้ 62 คดี คดีเกี่ยวกับเนื้อหาที่โพสต์ซึ่งเป็นข้อความหมิ่นประมาทต่างๆ รวม 215 คดี 
“ดังนั้นจึงเรียกได้ว่า ที่ผ่านมาคดีส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับเนื้อหา”
  1. มีคดีที่น่าสนใจและพิพากษาแล้วปีที่ผ่านมา 3 คดี ได้แก่
คดีจีรนุช เปรมชัยพร ผอ.เว็บไซต์ประชาไท ศาลพิพากษาในฐานะผู้ให้บริการ ลงโทษตามมาตรา 15 จำคุก 1 ปี 8 เดือน แต่รอลงอาญา
คดีสุรภักดิ์ ผู้เล่นเฟซบุ๊ก ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ผิดตามมาตรา 112 ประกอบกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ศาลตัดสินยกฟ้อง แต่ไม่ได้ยกฟ้องเพราะเนื้อหา แต่ยกฟ้องด้วยเหตุผลว่าโจทก์ไม่สามารถสืบพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์
คดีคธา อดีตโบรกเกอร์ ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความเกี่ยวกับพระพลานามัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และถูกฟ้องตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ศาลตัดสินจำคุก 4 ปี ในฐานะผู้โพสต์ข้อความ
  1. ศาลสั่งปิดเว็บไซต์จนถึงปี 54 มีจำนวนทั้งสิ้น 81,213 URLs อัพเดทถึง ธ.ค.55 แล้วรวมเป็น 102,191 URLs ประเภทของเว็บที่ถูกปิดมากที่สุด คือ เว็บที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และพระราชินี ตัวเลขอยู่ที่ 77,0491 URLs ช่วงที่ปิดสูงสุดคือช่วงที่เกี่ยวพันกับสถานการณ์การเมืองในเดือน มี.ค.53 ที่ นปช.ชุมนุม
“ข้อสรุปเบื้องต้น ลักษณะของการปิดเว็บของไทยโดยอาศัยกฎหมายตาม พรบ.คอม ไม่ได้ปิดอย่างสม่ำเสมอ ต่างกับจีนและมาเลเซีย แต่ของไทยจะเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับเหตุการณ์ทางการเมือง เราทิ้งประเด็นไว้ว่า อย่างนี้หมายความว่า ประเภทของเว็บไซต์ที่ถูกปิดเป็นเรื่องสถาบัน กราฟที่ถูกปิดเป็นเรื่องทางการเมือง ก็พอจะได้ข้อสรุปว่า ม.112 ผสมกับ พรบ.คอม อาจจะถูกแต่ละฝ่ายทางการเมืองใช้เป็นเครื่องมือในการฟ้อง ในการส่งข้อมูลถึงฝ่ายรัฐในการปิดเว็บไซต์ก็เป็นได้” สาวตรีกล่าว
สาวตรีกล่าวต่อว่า ส่วนที่สองของงานวิจัยเป็นการวิเคราะห์ปัญหาของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะผลกระทบต่อเสรีภาพของสื่อออนไลน์ พบว่า ปัญหาส่วนแรกคือ บทนิยาม – มีบทนิยามหลายคำที่ไม่ชัดเจน เกิดการตีความที่ขยายกว้างเกินไป ซึ่งเราเสนอว่าแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ชัดเจนและแคบกว่านี้
ปัญหาส่วนสอง มีอีก 4 มาตราที่มีปัญหาเกี่ยวกับเสรีภาพ คือ
มาตรา 14(1) เกี่ยวพันกับการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ มีผลทำให้ขัดต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก ความมุ่งหมายของผู้บัญญัติต้องการอุดช่องว่างในการทำเอกสารปลอมแล้วนำเข้า สู่ระบบ ซึ่งจะมีผลต่อความน่าเชื่อถือ แต่ปรากฏว่าสิ่งที่เกิดในศาลไทย คนที่ฟ้องตามมาตรานี้ฟ้องในลักษณะการหมิ่นประมาท ซึ่งมันคนละเรื่องกัน
มาตรา 14(2)(3) ใช้ถ้อยคำคลุมเครือ “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี” “ขัดต่อความมั่นคง”  เนื้อหาเหล่านี้เป็นดุลยพินิจของเจ้าพนักงานล้วนๆ
มาตรา 15 ความรับผิดของผู้ให้บริการ คดีจำนวนมากฟ้องผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต จนมีคนพูดว่า “รัฐไทยไม่ได้ต้องการหาตัวผู้กระทำผิดแต่ต้องการหาคนมารับผิด และมันทำให้คนเกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองขึ้นด้วย”
มาตรา 20 เจ้าพนักงานร้องขออำนาจศาลปิดเว็บไซต์ได้ ให้อำนาจรัฐเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตได้สูง
“พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ของเมืองไทยมีสองส่วนที่สำคัญ คือ บทว่าด้วยเรื่องการกระทำความผิดต่อตัวระบบหรือข้อมูล อาชญากรรมคอมฯ โดยแท้ กับการกระทำความผิดเกี่ยวกับเนื้อหา คดีที่เกิดขึ้นส่วนแรกแทบไม่ได้ใช้เลย แต่เป็นการใช้ส่วนหลังคุมเนื้อหาต่างๆ ซึ่งกระทบต่อเสรีภาพอย่างแน่นอน”
สาวตรีกล่าวถึงข้อเสนอแนะ 3 ประเด็นใหญ่ คือ
1.ข้อเสนอแนะทางกฎหมาย  ระบุว่าในอนาคตน่าจะต้องปรับหรือใช้บังคับกฎหมายนี้กับ “อาชญากรรมคอมพิวเตอร์โดยแท้” ส่วนเนื้อหาให้ใช้กฎหมายฉบับอื่นที่ครอบคลุมอยู่แล้ว แต่ปรับให้ทันสมัย
2.หากท้ายที่สุด ไทยยังยืนยันว่ากฎหมายนี้ยังต้องครอบคลุมเนื้อหา ต้องบัญญัติถ้อยคำให้ชัดเจน ไม่คลุมเครือ เช่น  “ขัดต่อความมั่นคง” “ขัดศีลธรรมอันดี” คืออะไร
3. ความรับผิดของผู้ให้บริการ ต้องมีการปรับบทนิยามของผู้ให้บริการชัดเจนขึ้น จำแนกให้เป็นระดับ เหมาะกับภารกิจที่เขาทำ การกำหนดโทษผู้ให้บริการต้องไม่เท่ากับผู้กระทำผิด และต้องทำบทบัญญัติเกี่ยวกับ notice and take down การแจ้งจากพนักงาน แจ้งแล้วให้ทำอะไร ลบข้อความภายในเวลาเท่าไร
4.องค์กรผู้ที่จะมากลั่นกรองว่าจะปิดหรือไม่ ไม่ควรเป็นศาล เพราะพบว่าศาลออกคำสั่งแต่ละคำสั่ง อาจปิดได้ถึง 300-400 URLs ในวันเดียว ซึ่งไม่น่าตรวจสอบได้หมด
5. ข้อเสนอเชิงนโยบาย รัฐควรทบทวนใหม่ว่าการปิดกั้นเว็บไม่แก้ปัญหาอะไร ควรหาวิธีการอื่น
“คนไทยยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในการแสดงความคิดเห็นเท่ากับคนตะวันตก เวลามีกฎหมายออกมากระทบต่อสิทธิเขาจะไม่ค่อยมีการเรียกร้อง มีองค์กรไม่กี่องค์กรที่ช่วยกันเรียกร้องเวลามีกฎหมายที่ละเมิดสิทธิ ที่สำคัญ วิธีการเรียกร้อง เป็นการประท้วงและยื่นหนังสือเท่านั้น ไม่ค่อยมีการนำสู่ศาล ในอนาคตคนไทยต้องตื่นตัวเรื่องพวกนี้และปรับเปลี่ยนเคลื่อนไหวใหม่”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น