แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2556

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: นักโทษการเมืองตายในคุก

ที่มา ประชาไท


เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคมที่ผ่านมา ได้เกิดกรณีประจานความอยุติธรรมในสังคมไทยอีกครั้ง เมื่อมีรายงานจากกรมราชทัณฑ์ว่า นักโทษการเมือง ชื่อ นายวันชัย รักสงวนศิลป์ ได้ถึงแก่กรรมเสียแล้วในสถานที่คุมขังที่เรือนจำพิเศษ หลักสี่ ทั้งที่นายวันชัยเพิ่งจะมีอายุเพียง ๓๑ ปี
 
พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้อธิบายว่า ในช่วงบ่ายของวันที่ ๒๗ ธันวาคม หลังจากที่นายวันชัยเสร็จสิ้นจากการแข่งขันกีฬาก็เข้ามาพักนั่งดูเพื่อนผู้ ต้องขังเล่นหมากรุก และต่อมานายวันชัยเดินเข้าไปล้างหน้าที่ห้องน้ำ เมื่อเดินออกจากห้องน้ำ นายวันชัยก็ล้มลงกับพื้น และถึงแก่กรรมในเวลาต่อมา รายงานผลการชันสูตรศพจากนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ได้ตรวจสาเหตุการเสียชีวิตและรายงานว่า เกิดจากระบบการหายใจและระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ไม่พบร่องรอยการถูกทำร้ายแต่อย่างใด
 
หลังจากทราบเหตุการณ์ นางทองมา มารดาของวันชัย กล่าวทั้งน้ำตาว่า รู้สึกเสียใจที่สุดกับเหตุการณ์นี้ แม้ไม่ติดใจเอาความ แต่อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือนักโทษการเมืองให้ได้รับการประกันตัว หรือให้ได้ปล่อยออกมา ไม่ควรต้องถูกขังอย่างไม่รู้ชะตากรรม เพราะไม่อยากให้มีแบบนี้อีกแล้ว และอธิบายด้วยว่า วันชัยเป็นลูกชายคนเดียวในจำนวนลูก ๓ คน และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการหารายได้เลี้ยงครอบครัว เขาจบการศึกษาชั้น ป.๖ มีอาชีพรับจ้างดายหญ้า และรับจ้างทั่วไป วันเกิดเหตุเขาดายหญ้าอยู่ที่สถานีตำรวจ ส่วนเธอรับจ้างเกี่ยวข้าวอยู่ในนา ทราบเรื่องอีกทีก็ตอนลูกชายโดนจับและถูกคุมขัง
 
ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา ๕๓ ( ศปช.) ได้ระบุว่า วันชัย รักสงวนศิลป์ สถานะโสด เป็นชาวตำบลหนองไผ่ อำเภอหนองหาน อุดรธานี ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองเป็นครั้งแรก โดยเดินทางจากบ้านที่หนองหารมาชุมนุมบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอุดรธานี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุติการใช้ความรุนแรงในการเข่นฆ่าประชาชน ในการสลายการชุมนุมที่บริเวณราชประสงค์ในกรุงเทพมหานคร ในระหว่างนั้น ได้เกิดการเผาศาลากลางจังหวัด เพื่อเป็นการตอบโต้ต่อการปราบปรามของกองทัพ และในวันนั้นทางการตำรวจอุดรธานีได้ยิงใส่ผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๒ คน ชื่อ นายเพิน ทองมา และ นายอภิชาติ ระชีวะ และมีผู้บาดเจ็บอีก ๒ คน ผู้ที่เสียชีวิตก็มาจากการโดนกระสุนจริงของเจ้าหน้าที่ทั้งสิ้น
 
ต่อมา หลังจากเหตุการณ์ได้มีการกวาดล้างจับกุมประชาชนจำนวนมากโดยเฉพาะที่อุดรธานี ซึงมีการดำเนินคดีในศาลจังหวัดถึง ๒๑๒ คน โดยนายวันชัยเป็นหนึ่งในผู้ถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ต่อมา อัยการแผ่นดินได้ยื่นฟ้องต่อศาล ๒๒ คน ฐานความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ความผิดฐานละเมิด พระราชกำหนดภาวะฉุกเฉิน บุกรุกสถานที่ราชการ ร่วมกันทำลายทรัพย์สิน เป็นผู้โฆษณาให้ผู้อื่นกระทำผิด และวางเพลิงเผาอาคารที่ว่าการอำเภอเมืองอุดรธานี อาคารเทศบาลนครอุดรธานี และศาลากลางจังหวัดอุดรธานี
 
ในวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๔ ศาลชั้นต้นได้ตัดสินให้จำเลยมีความผิดตามข้อหาวางเพลิงเผาสถานที่ราชการ และละเมิดภาวะฉุกเฉิน โดยลงโทษหนัก ๕ คน คือ นายอาทิตย์ สายทอง จำคุก ๒๒ ปี ๖ เดือน  นายวันชัย รักสงวนศิลป์ จำคุก ๒๐ ปี ๖ เดือน นายกิตติพงษ์ ชัยกัง ซึ่งเป็นผู้เยาว์ จำคุก ๑๑ ปี ๓ เดือน นายเดชา คมขำ และนายบัวเรียน แพงสา จำคุก ๒๐ ปี ๖ เดือน นอกจากนี้ อีก ๔ คน คือ นายประชา โพนหลวง จำคุก ๔ ปี ๖ เดือน  นายสมใจ เหล็กแสน นายนิมิต ด้านซอม และนายอาทิตย์ ทรงเดช จำคุก ๒ ปี ๖ เดือน
 
ส่วนจำเลยที่เหลือคือ ๑.นายวิทยา ชาวเวียง ๒.นางปฐมาวดี วินิจจามร  ๓.นายธนพล มาดีประเสริฐ ๔.นายสมศรี ไกลพล ๕.นายอุดร หลาบยองศรี ๖.นายแสงทอง ประจำเมือง ๗.นายสมจิตร อารีย์ ๘.นายคำพอง ทัดศรี ๙.นายเหมือนทอง สมบุญมี ๑๐.นายมงคล ชมคุณ ๑๑.นางแสงเดือน สุภาพล ๑๒.นางรัศมี ทองสีดำ ๑๓.นางปาริชาติ จวงจันทร์ ศาลพิพากษามีความผิด ตาม พรก.บริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน จำคุก ๑ ปี รับสารภาพเหลือจำคุกคนละ ๖ เดือน แต่ศาลให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าทั้งหมดถูกขังมาพอแก่โทษแล้วให้ปล่อยตัว 
 
กรณีของนายวันชัยนับจากวันที่ถูกจับกุม จนถึงวันที่เขาเสียชีวิตในเรือนจำ เป็นเวลา ๒ ปี ๗ เดือนเศษ เขามีโอกาสได้รับสิทธิในการประกันตัวในช่วงก่อนที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา เป็นเวลาเพียง ๒ เดือนเศษเท่านั้น
 
กรณีที่เกิดขึ้นนี้ส่วนหนึ่ง ได้สะท้อนให้เห็นถึงความอยุติธรรมที่ดำเนินการโดยกระบวนการศาล เพราะจะเห็นได้ว่า มีการตั้งธงล่วงหน้าที่จะนำตัวคนเสื้อแดงมาลงโทษ โดยจะเห็นได้จากการห้ามประกันตัว และการตัดสินลงโทษขั้นสูง เมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินการต่อฆาตกรที่จะต้องรับผิดชอบในการสังหาร ประชาชน ก็มีความคืบหน้าที่ช้ากว่ามาก และถ้าเป็นผู้กระทำผิดของกระบวนการเสื้อเหลือง ยังไม่มีใครต้องถูกดำเนินคดีถึงขั้นติดคุกเลย ในการพิจารณาคดี คณะตุลาการก็ไม่ได้พิจารณาว่านี้เป็นกรณีทางการเมือง หรือไม่พิจารณาในด้านที่เป็นคุณแก่จำเลย เช่น ไม่พิจารณาว่า จำเลยไม่เคยกระทำความผิด ไม่ได้เป็นผู้ร้ายโดยสันดาน ยิ่งกว่านั้น ก็ไม่ได้มีพยานหลักฐานชัดเจนว่า จำเลยเช่นคุณวันชัย รักสงวนศิลป์ เป็นคนจุดไฟลงมือเผา การตัดสินตามความผิดภาวะฉุกเฉิน ก็ไม่ได้มีการพิจารณาว่า ภาวะฉุกเฉินนั้นมีความชอบธรรมหรือไม่
 
ดังนั้น จึงสามารถอธิบายได้ว่า ประชาชนอย่างคุณวันชัย รักสงวนศิลป์ รวมทั้งอีกหลายคนที่ยังติดอยู่ในคุกนั้น เป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ถูกตัดสินดำเนินคดีเพราะเป็นคดีการเมือง ที่มุ่งจะทำลายความชอบธรรมในการต่อสู้ของคนเสื้อแดง
 
แต่กระนั้น คงจะต้องอธิบายด้วยว่า การเสียชีวิตของคุณวันชัย รักสงวนศิลป์ ส่วนหนึ่งมาจากความละเลยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาลแล้ว อ่อนแอและลังเลใจ ไม่ยอมที่จะใช้มาตรการในการนิรโทษกรรมประชาชนที่ติดคุก ทั้งที่การออกเป็นพระราชกำหนดนิรโทษกรรมความผิดของประชาชนเนื่องจากภาวะฉุก เฉิน ก็เป็นเรื่องที่ทำได้โดยไม่ยาก แต่เมื่อไม่ดำเนินการ ก็ทำให้พี่น้องประชาชนที่เป็นนักโทษการเมืองทั้งหมด ต้องติดคุกกันมานานเป็นปี หลังจากพรรคเพื่อไทยขึ้นบริหารประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้น
 
การเสียชีวิตของคุณวันชัยได้สร้างผลสะเทือนพอสมควร เพราะในที่สุด นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ส่งหรีดมาแสดงการไว้อาลัยในงานศพด้วย นอกจากนี้ คุณธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ก็ได้แถลงย้ำว่า  แผนงานของ นปช.ในปี ๒๕๕๖ ก็คือ การเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกคุมขังให้ได้รับการประกันตัว เพราะไม่อยากให้ตายทีละคน แต่จะได้ประกันตัวหรือไม่ก็อยู่ที่ศาล แต่ทาง นปช.จะเร่งผลักดัน พ.ร.ก. นิรโทษกรรม ให้กับประชาชนทุกสีเสื้อ ยกเว้นแกนนำและผู้สั่งฆ่า
 
สรุปแล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยิ่งคงต้องดำเนินการให้มีการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองเหล่านี้โดยเร็ว มิฉะนั้น ก็จะเป็นไปดังเสียงสะท้อนว่า พรรคประธิปัตย์เป็นรัฐบาล ประชาชนตายบนท้องถนน พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ประชาชนถูกทิ้งให้ตายในคุก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น