แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ของขวัญปีใหม่

ที่มา ประชาไท


ในท่ามกลางความขัดแย้งถึงขั้นใช้อาวุธต่อกันอย่างรุนแรงในภาคใต้ตอนล่าง และระหว่างสีในประเทศไทยโดยรวม ของขวัญปีใหม่ที่คนไทยอยากได้ที่สุดน่าจะเป็นความสงบสันติ แต่ดูจะเป็นของ ขวัญที่ไกลสุดเอื้อม ผมไม่มีสติปัญญาพอจะมอบของขวัญอันมีค่าขนาดนี้ได้ แต่อยากมอบของขวัญชิ้นเล็กๆ กว่านั้นแยะ แต่ผมคิดว่าสำคัญ นั่นคือการมองปัญหาความขัดแย้งให้ซับซ้อนกว่าที่เคยมองมา และด้วยเหตุดังนั้นจึงมองทางออกซับซ้อนกว่าที่เคยมองมาด้วย กล่าวคือไม่ใช่ความขัดแย้งของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเท่านั้น และด้วยเหตุดังนั้น การแก้ปัญหาจึงไม่ใช่แค่การจับเข่าคุยกัน ไม่ว่าจะที่ดูไบ หรือที่มาเลเซีย รวมทั้งอาจไม่ต้องเดินไปหนทาง "ความจริง-ความยุติธรรม-การให้อภัย-ความปรองดอง" ด้วย ไม่ใช่เพราะเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ไม่ถูกต้อง แต่เพราะเป็นเส้นทางที่น้อยสังคมจะเลือกเดินได้ แม้แต่ในสังคมที่เลือกเดินไปแล้ว ก็ไม่ใช่เพราะ "เลือก" แท้ๆ แต่มีปัจจัยอื่นผลักดันอยู่ด้วย

มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย มีโครงการวิจัยใหญ่อันหนึ่งชื่อ "เปรียบเทียบการสร้างสันติภาพ" ซึ่งเกิด ขึ้นหลายแห่งในโลก งานวิจัยที่ตีพิมพ์ออกมาชิ้นแรกคือกรณีศึกษาอินโดนีเซีย (John Braithwaite, et.al., Anomie and Violence, Non-Truth and Reconciliation in Indonesian Peacebuilding)

ทำไมถึงต้องเป็น อินโดนีเซีย คำตอบก็เพราะความขัดแย้งในอินโดนีเซียนั้นซับซ้อนหลากหลายมาก มีทั้งที่เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์, หรือเกิดจาก "คำสาปของทรัพยากร" คือเพราะมีทรัพยากรมากจึงทำให้เกิดความขัดแย้ง และสนับสนุนให้ความขัดแย้งสามารถดำรงอยู่หรือรุนแรงขึ้นได้ทุกฝ่าย, หรือความขัดแย้งระหว่างศาสนาและอัตลักษณ์, หรือการแยกดินแดน, หรือความขัดแย้งระหว่างชนชั้น, หรือการแย่งอำนาจระหว่างกลุ่มการเมือง ฯลฯ และเอาเข้าจริง ในทุกๆ ความขัดแย้งก็มีปัจจัยมากกว่าหนึ่งเสมอ จึงทำให้ซับซ้อนมาก

หลังการลาออกและการพังทลายของระบอบเผด็จการซูฮา ร์โต อินโดนีเซียก็ย่างเข้าสู่สภาวะที่เรียกว่า Anomie หมายถึงสภาวะที่ปราศจากความเชื่อฟังต่อ "ประชาวิถี" ซึ่งรวมถึงกฎหมาย, ประเพณี, และอาชญาสิทธิ์ทั้งปวง ความตายอันเนื่องมาจากการก่อการร้ายเพิ่มขึ้นจาก 9 รายใน พ.ศ.2541 (เมื่อซูฮาร์โตประกาศลาออก) เป็น 233 รายใน พ.ศ.2545 แต่พอถึง พ.ศ.2551 การตายจากเหตุก่อการร้ายเหลือสูญราย ไม่เฉพาะแต่การก่อการร้าย แต่รวมถึงสถิติอาชญากรรมอื่นๆ ด้วย ในปัจจุบันสถิติฆาตกรรมในอินโดนีเซียลดลงเหลือเพียง 1 ต่อ 100,000 ราย ซึ่งต่ำกว่าทุกประเทศในยุโรป มีสถิติการติดคุกต่ำสุดในโลกคือ 28 ต่อ 100,000 ฯลฯ

จากประเทศที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและการก่อการร้าย กลายเป็นประเทศที่สงบเกือบที่สุดในโลกภายในระยะเวลาเพียงทศวรรษเดียว

แต่ ในขณะเดียวกัน การเมืองอินโดนีเซียในทศวรรษนี้ คือการก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยจากเบื้องล่างที่รวดเร็วมาก รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อาจไม่สามารถคุมกองทัพได้สมบูรณ์ แต่ก็คุมได้มากขึ้น เช่นถอนคนของกองทัพออกไปจากผู้ว่าฯ, นายอำเภอ, และกำนัน ได้หมด ทุกตำแหน่งมาจากการเลือกตั้งท้องถิ่น และดังนั้นข้อสรุปอันแรกที่เห็นได้ชัดก็คือ การล่มสลายของระบอบเผด็จการ และการเป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ ย่อมนำมาซึ่งสภาวะที่ปราศจาก "ประชาวิถี"

บท เรียนนี้มีความสำคัญแก่ไทยอย่างมาก เพราะชนชั้นนำไทยรู้ว่า เราไม่อาจหวนกลับไปสู่ระบอบเผด็จการอย่างสฤษดิ์-ถนอม-ประภาสได้แล้ว แต่หากปล่อยให้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ บ้านเมืองก็จะปั่นป่วนวุ่นวาย (anomie) จึงควรเป็นประชาธิปไตยแค่ครึ่งใบ

บทเรียนจากอินโดนีเซียชี้ ว่าเป็นความเข้าใจผิด ประชาธิปไตยครึ่งใบนั่นแหละที่เป็นตัวนำความปั่นป่วนวุ่นวายมาให้มากเท่ากับ การพังทลายของระบอบเผด็จการ แต่ประชาธิปไตยเต็มใบต่างหาก ที่อาจนำมาซึ่งการไม่ใช้ความรุนแรงจัดการกับความขัดแย้งได้

เมื่อ ความเชื่อฟังประชาวิถีพังทลายลง ย่อมเกิด "โอกาส" ใหม่ๆ ขึ้นแก่คนหลายกลุ่ม "โอกาส" เหล่านี้อาจได้มาจากระบบใหม่ที่เกิดขึ้นหลังการพังทลายของประชาวิถีเก่า (ทำได้โดยถูกกฎหมาย) หรืออาจได้มาโดยการฉวยเอาด้วยการลงทุนน้อยที่สุด และส่วนใหญ่ของ "โอกาส" ที่เกิดใหม่เหล่านี้ย่อมฉวยได้โดยไม่ต้องเคารพประชาวิถีใดๆ ไม่ว่าเก่าหรือใหม่ (ทำได้โดยผิดกฎหมาย)

ฉะนั้น หากปล่อยให้สภาวะไร้ประชาวิถีเกิดขึ้นเป็นเวลานานๆ เช่นในภาคใต้ตอนล่าง "โอกาส" ย่อมเพิ่มทบทวีคูณ และการฉวยเอาโดยผิดกฎหมายย่อมเป็นไปได้ง่ายขึ้น และมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการค้าน้ำมัน, ค้าของเถื่อน, ค้ามนุษย์, ค้ายาเสพติด, ฉ้อฉลงบประมาณ, ตั้งตัวเป็นเจ้าพ่อขายการคุ้มครอง, ฯลฯ และอาจทำได้จากทุกฝ่าย ทหาร, เจ้าหน้าที่บ้านเมืองฝ่ายพลเรือน, ผู้นำท้องถิ่น, ผู้ก่อการ, ครูทั้งอุสตาซในโรงเรียน และโต๊ะครูในปอเนาะ, คนธรรมดา ทั้งมุสลิมและพุทธ ฯลฯ

ทั้งหมดเหล่านี้หล่อเลี้ยงความ รุนแรงให้ดำรงอยู่ หรือเข้มข้นขึ้น บทเรียนจากความขัดแย้งถึงขั้นใช้อาวุธในหลายทำเลของอินโดนีเซีย สอนให้รู้ว่าความซับซ้อนของความขัดแย้งนั้น มีปัจจัยท้องถิ่นช่วยผลักดันมากกว่าความขัดแย้งที่เป็นประเด็นกว้างๆ เช่นระหว่างคริสต์กับอิสลาม, ระหว่างผู้อพยพชาวมาดูรากับชาวพื้นเมืองมลายู, หรือระหว่างรัฐอินโดนีเซียกับชาวพื้นเมืองปาปัวต่างชาติพันธุ์ ฯลฯ

ความ เข้าใจเกี่ยวกับความขัดแย้งของเรา ไม่ว่าจะเป็นภาคใต้ตอนล่างหรืออีสาน-เหนือ-ใต้-กลาง ไม่เคยลงลึกไปถึงปัจจัยระดับท้องถิ่นสักกรณีเดียว จึงได้แต่แตะอยู่ระดับอุดมการณ์ ซึ่งทำให้มองไม่เห็นทางออกอื่นใดนอกจาก ดึงเอาอุดมการณ์อื่นที่คิดว่าอาจทำให้คนสามัคคีกันได้ (เช่นชาติ, ศาสน์, กษัตริย์) มาถ่วงดุล ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงอุดมการณ์ เช่น ชาติ, ศาสน์, กษัตริย์นั้นเอง อาจมีความหมายในท้องถิ่นเป็นเงื่อนไขแห่งความขัดแย้งเสียเองก็ได้

ผู้ ศึกษากรณีความขัดแย้งถึงขั้นใช้อาวุธในอินโดนีเซีย สรุปเงื่อนไขสำคัญๆ ของการสร้างสันติภาพในโครงสร้างระดับใหญ่เหนือท้องถิ่นว่ามีอยู่ 4 ประการดังนี้

1.บ้านเมืองต้องพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยได้มาก ซึ่ง บังเอิญอินโดนีเซียหลังซูฮาร์โตสามารถพัฒนาไปในแนวทางนี้ได้อย่างดี ในกรณีไทยอาจต้องรวมถึงการลดอำนาจและบทบาทของกองทัพลงด้วย (demilitarization) ในความขัดแย้งทางศาสนาของมณฑลมาลูกูของอินโดนีเซีย กองทัพเองนั่นแหละเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกระพือความไม่ไว้วางใจกันระหว่าง ชาวมุสลิมและชาวคริสต์ แม้กระทั่งเข้าร่วมในการสังหารหมู่ชาวคริสต์ด้วย

ใน ประเทศไทย กองทัพถูกมองว่าเป็นคู่ความขัดแย้ง (ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร) ทั้งในภาคใต้ตอนล่าง และในความขัดแย้งระหว่างสี แต่รัฐบาลทุกรัฐบาลกลับให้อำนาจและบทบาทของกองทัพในความขัดแย้งทั้งสองนี้ สูง

2.ต้องมีสื่อที่เสรีและยุติธรรม โชคดีที่สื่ออินโดนีเซียตอบรับ ประชาธิปไตยซึ่งเบ่งบานขึ้นหลังซูฮาร์โตได้ดีกว่าไทยอย่างเทียบกันไม่ได้

ใน ขณะที่สื่อในประเทศไทยกลายเป็นตัวเร่งความขัดแย้ง โดยเฉพาะในสงครามเสื้อสี อย่างอัปลักษณ์กว่าสมัยใดๆ ในประวัติศาสตร์สื่อไทย เราจะออกจากวังวนนี้ได้อย่างไร ผมก็คิดไม่ออกเพียงแต่อยากเตือนว่า เมื่อประชาวิถีของสื่อถูกล้มล้างไปตั้งแต่คำประกาศว่า สื่อจะเป็นกลางระหว่างฝ่าย "ผิดและถูก" ไม่ได้ "โอกาส" มีให้นักทำสื่อฉวยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะถูกต้องทำนองคลองธรรมหรือไม่

แม้ แต่องค์กรของสื่อเองก็ไม่สามารถฟื้นฟูประชาวิถีของสื่อกลับมาได้ใหม่ หรือร้ายกว่านั้นช่วยทำลายหลักเสรีและยุติธรรมของสื่อลงด้วยซ้ำ

3.ต้อง มีผู้นำของการสร้างสันติภาพที่มีประสิทธิภาพจริง เขาอาจเป็นผู้บริหารระดับ สูง (ซึ่งมักไม่ใช่) หรืออาจเป็นผู้นำท้องถิ่นซึ่งเคยทำให้เกิดความขัดแย้งเอง หรืออาจเป็นคนใหม่ที่แปรบทบาทเก่าของตนออกไปในทางสร้างสันติภาพอย่างได้ผล

ใน กรณีไทย นอกจากเราไม่ได้ผู้นำฝ่ายบริหาร, นิติบัญญัติ หรือตุลาการ ที่มีความสามารถพอจะเป็นผู้สร้างเงื่อนไขของสันติภาพได้แล้ว เรายังพยายามเข้าไปควบคุมกระบวนการสร้างสันติภาพที่เกิดจากคนเล็กๆ ในท้องถิ่น ด้วยความระแวงสงสัยตลอดมา หน่ออ่อนๆ ของการสร้างสันติภาพจึงงอกไม่ค่อยได้

องค์กรในท้องถิ่นนั้นมีความ สำคัญมากในการสร้างสันติภาพ ผมขอยกตัวอย่างกรณีมาลูกูอีกครั้งหนึ่ง ในระหว่างสงครามศาสนาที่ทั้งสองฝ่ายห้ำหั่นกันอย่างเมามันนั้น มีกลุ่มผู้หญิงคริสเตียนและกลุ่มผู้หญิงมุสลิม ซึ่งรวมตัวกันเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงต่อกัน จนเป็นผลให้ผู้ว่าการรัฐต้องคล้อยตาม แม้ว่าในระยะแรกๆ กลุ่มผู้หญิงทั้งสองกลุ่มนี้ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมร่วมกันได้ แต่ผู้นำของทั้งสองกลุ่มแอบติดต่อกันตลอดมา ความสงบสันติที่ได้มาหลังความบ้าเลือดของทั้งสองฝ่ายนั้น คงมาจากปัจจัยที่หลากหลายซับซ้อน แต่การดำเนินงานของกลุ่มผู้หญิงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญอย่างปฏิเสธไม่ได้

ใน อีเรียน (ปาปัว) ประเพณีสงครามระหว่างเผ่าซึ่งทำกันมานมนานกาเลก็คือ ต้องฆ่ากันให้ได้จำนวนศพเท่ากันเสียก่อนจึงจะเจรจาปรองดองกันได้ (มีพิธีกรรมการปรองดองที่สลับซับซ้อนและใช้เวลาอาจถึง 2 ปี) แต่ในความเป็นจริงจะให้ศพมีจำนวนเท่ากันนั้นเกิดขึ้นได้ยาก จึงมีประเพณีการชดเชยแก่เผ่าที่เสียศพไปมากกว่า อาจชดเชยเป็นหมู หรือส่งคนจากเผ่าที่ฆ่าได้มากกว่าให้อีกเผ่าหนึ่งฆ่าเสีย (มักส่งคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นชายชู้หรือคนที่เผ่ารังเกียจมาให้ฆ่า) มีประเพณีกินเลี้ยงร่วมกันและสาบานกันว่าจะเลิกแล้วต่อกัน หากใครก่อเรื่องขึ้น เผ่าของตัวเองนั้นแหละที่จะฆ่าคนนั้นทิ้งเสีย

ประเพณี ทำนองเดียวกันนี้ พบได้ในชาวแอฟริกาของแอฟริกาใต้เหมือนกัน การชดเชยทำให้ไม่ "ขาดทุน" ที่ต้องเสียสมาชิกของเผ่าไป และการชดเชยและสงบสันติเป็นประโยชน์แก่อนาคตของเผ่า ว่ากันว่าที่ชาวผิวดำในแอฟริกาใต้ให้อภัยแก่ชาวผิวขาว ก็เพราะได้เห็น (จากประเพณีเก่าของตน) แล้วว่า การสร้างคุกเพื่อขังคนขาวนั้นไม่ได้ประโยชน์เท่ากับเอาเงินนั้นมาสร้าง โรงเรียนให้แก่เด็กผิวดำ

ผมคิดว่ามีการศึกษากระบวนการปรองดองตาม ประเพณีในท้องถิ่นต่างๆ ในเมืองไทยน้อยเกินไป อาจเป็นเพราะเราไปเชื่อเสียแล้วว่าชุมชนไทยโบราณนั้นสมัครสมานปรองดองกันแนบ แน่น ผลก็คือเราไม่มีความรู้กลไกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ รวมทั้งมองไม่เห็นบทบาทของคนเล็กคนน้อยอีกมาก ซึ่งอาจมีส่วนในการสร้างสันติภาพขึ้นได้

4.ผู้นำทางศาสนา อาจพบได้ว่าผู้นำทางศาสนามีบทบาทสำคัญในการสร้างสันติภาพขึ้นในอินโดนีเซีย หลายกรณี เพราะผู้นำทางศาสนาได้หูที่พร้อมจะฟังจากประชาชนอยู่แล้ว แต่น่าเสียดายที่ในเมืองไทย ความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้เกิดขึ้นในช่วงที่อำนาจของผู้นำทางศาสนากำลัง ถูกท้าทาย เราไม่อาจนิยามได้ชัดเจนว่าใครกันแน่คือ "ผู้นำทางศาสนา" เหมือนเมื่อสัก 30 ปีที่แล้วมา (ทั้งอิสลามและพุทธ) ความพยายามที่น่ายกย่องของผู้นำศาสนาเพื่อสร้างสันติภาพจึงบังเกิดผลไม่สู้ มากนัก ส่วนในกรณีความขัดแย้งเรื่องสี แทบจะไม่เห็นบทบาทของผู้นำศาสนาเอาเลย เว้นแต่ทำให้ความขัดแย้งยิ่งรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงบทบาทของผู้นำทางวัฒนธรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชน, ผู้ตรวจการรัฐสภา, สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สกว., สสส. ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ช่วยเสริมให้ความขัดแย้งบานปลายมากขึ้น ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

นี่เป็นของขวัญชิ้นเล็กๆ ที่ผมพอให้ได้ในเทศกาลปีใหม่ แต่ของขวัญนี้จะเป็นเพียงอากาศธาตุ หากไม่ช่วยทำให้การทำความเข้าใจเพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับความขัดแย้งที่ เราเผชิญอยู่เวลานี้ ได้หันไปจากการนับศพและอุดมการณ์ สู่การศึกษารายละเอียดของเงื่อนไขต่างๆ ในท้องถิ่น เพื่อเข้าใจปัจจัยที่อำนวยให้ความขัดแย้งดำรงอยู่หรือทวีความรุนแรงขึ้น

เพราะความรู้ที่ถูกทางเท่านั้น ที่จะทำให้เราไปพ้นจากสภาพไร้ประชาวิถีที่นำเราสู่ความขัดแย้งอันไม่มีที่สิ้นสุดนี้


ที่มา: มติชนออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น