และอาจเป็นเพราะสื่อมีฝักฝ่าย จึงทำให้ฉายาออกมาไม่ get ไม่โดนใจคน เช่นที่โพลล์ไม่เห็นด้วย “ปูกรรเชียง”
วาทะแห่งปี ซึ่งควรจะเลือกคำพูดที่เป็นข่าวฮือฮา กลับไปเลือกคำพูดนายกฯ ในสภา ซึ่งไม่ค่อยเป็นประเด็น
นี่ไม่ใช่พูดเพราะผมเชียร์รัฐบาล แต่จะบอกว่าเลือก White Lie หรือ “ขี้ข้าทักษิณ” เสียยังโดนกว่า เหมือนนักข่าวอาชญากรรมเลือก “มีวันนี้เพราะพี่ให้” ใครๆ ก็ไม่เถียง
ฉายารัฐบาล “พี่คนแรก” มีส่วนถูก ที่ว่ามีเงาพี่ชาย พี่สาว ปัญหาของพี่ พาดผ่านอยู่ตลอด แต่อย่าลืมว่าความขัดแย้งสำคัญในปี 2555 อยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ คำอธิบายที่ไม่ชัดเจนทำให้เหมารวมการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปด้วย ว่าแก้เพื่อทักษิณ ทั้งที่นักข่าวทำเนียบควรตระหนักว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่เป็นประชาธิปไตย มีผู้คนมากมายต้องการให้แก้ ถ้าอธิบายให้ดีต้องบอกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียกระบวนไปเพราะร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่ดันเข้ามาเพื่อ “พี่คนแรก” ต่างหาก
ฉายาที่ผู้สื่อข่าวรัฐสภาตั้งยังนับว่า “โดน” กว่าและดู “เป็นกลาง” กว่า เช่นที่ยกให้ 3 ส.ส.ทั้งเพื่อไทย ปชป.เป็นดาวดับ
อย่ากระนั้นเลย ไหนๆ ก็ไหนๆ ขอตั้งฉายาให้สื่อบ้าง โดยเฉพาะสื่อกระแสหลัก ซึ่งเคยแต่ตั้งฉายาให้ชาวบ้าน
อันที่จริงไม่อยากใช้คำว่า “พิราบ” เดี๋ยวความหมายจะแปดเปื้อน เพราะ “พิราบ” หมายถึงผู้รักเสรีภาพ ไม่ใช่ผู้สนับสนุนรัฐประหาร แต่ในเมื่อสื่อยกตนเป็นพิราบ เป็นความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป ก็ให้ยืมใช้ชั่วคราว ถ้าจะเปื้อน ก็เปื้อนเพราะคนยกตน
“พิราบกระเด้าลม” ฟังแล้วอาจหยาบไปหน่อย แต่ก็เหมาะกับพฤติกรรมสื่อกระแสหลักในรอบปี 55 ที่ทั้งปลุกความเกลียดชัง ล่วงล้ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ล่วงล้ำก้ำเกินทางเพศ ตั้งแต่ผู้จัดการแต่งภาพ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็น “วรเจี๊ยก” โดยองค์กรสถาบันสื่อเมินเฉย ไม่ตำหนิติติง หรือการใส่สีตีข่าวแบบสองแง่สองง่ามตามฝ่ายค้าน กรณี ว.5 โฟร์ซีซันส์ ซึ่งสนุกปากกันเกือบทุกฉบับ โดยองค์กรผู้หญิงไม่ยักปกป้องศักดิ์ศรีสตรี
มาจนกระทั่งการ์ตูนนิสต์ฝรั่งเขียนการ์ตูนเหยียดเพศยิ่งลักษณ์ ว่าให้ท่าโอบามา ลง The Nation ซึ่งเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์มาก สำหรับค่ายบางนา ที่พยายามสร้างภาพ “มาตรฐานฝรั่ง” เพราะถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ฝรั่งที่มีมาตรฐานจริง เขาไม่ทำกันอย่างนี้ ต่อให้ไม่ชอบหรือเกลียดชังอย่างไรเขาก็ไม่ล้ำเส้น
ไม่รู้เหมือนกันว่า The Nation จะปล่อยให้ฝรั่งสลิ่มเหยียดเพศต่อไปไหม ในเมื่อเพิ่งเปลี่ยน บก.ใหม่ ได้ บก.ผู้หญิง
พฤติกรรมเช่นที่ยกตัวอย่างนี้มีมาต่อเนื่องทั้งปี จึงไม่อาจเรียกอย่างอื่นได้ นอกจาก “กระเด้า”
แต่ “กระเด้าลม” หมายถึงสื่อมีความวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่งยวด ในอันที่จะล้มรัฐบาล ตั้งแต่ศุกร์ 13 ภาคศาลรัฐธรรมนูญ มาจนม็อบสนามม้า “แช่แข็งประเทศไทย” หนังสือพิมพ์บางฉบับเชียร์ตั้งแต่หน้าข่าวการเมือง ข่าวสังคม ข่าวต่างประเทศ ไปถึงหน้าพระเครื่อง ซึ่งขนหมอดูมาทำนายว่ารัฐบาลจะอยู่ได้ไม่เกินวันที่เท่านั้นเท่านี้
ที่ไหนได้ กระเด้าลม ม็อบทำงานไม่ถึง 8 ชั่วโมงก็ละลาย หมอดูหน้าแหกพอๆ กับคำทำนายวันโลกแตก สื่อยัง “วีน” พยายามเล่นงานตำรวจทำรุนแรง แต่ไม่เป็นผล ทีวีเสรีซึ่งเผลอหลุดปาก “ผู้ชุมนุมของเรา” อุตส่าห์ขุดหนัง Battle in Seattle มาฉาย แต่ปลุกไม่ขึ้น
ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลกลับมีเสถียรภาพมั่นคง เพราะการปลุกกระแสสุดขั้วสุดโต่ง จ้องล้มรัฐบาล ทำให้กระแสสังคมวงกว้างปฏิเสธ ไม่เอาด้วย สังคมไทยเบื่อหน่ายการโค่นล้มกันด้วยวิถีทางนอกระบอบ เข็ดแล้ว อยากอยู่สงบๆ จะได้ทำมาหากิน ไม่เอาอีกแล้ว รัฐประหาร ตุลาการยุบพรรค ชอบไม่ชอบรัฐบาล ก็ให้บริหารประเทศไปตามวิถี
“พิราบกระเด้าลม” ยังเอวเคล็ดเปล่า ในอีกหลายสมรภูมิ อาทิเช่น การรณรงค์บอยคอตต์ “เรื่องเล่าเช้านี้” สรยุทธ สุทัศนะจินดา ของสมาคมนักข่าวและสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งทำให้ราคาหุ้นช่อง 3 ปั่นป่วน เพราะนักลงทุนไม่รู้จะเอาไงแน่ จนกระทั่งช่อง 3 ต้องประกาศยืนยันว่าไม่ถอดรายการสรยุทธ ราคาหุ้นจึงพุ่งพรวดกลับไปสูงกว่าเดิม (ฮา)
นี่อาจรวมถึงการร่วมมือกับ TDRI และยะใส กตะศิลา พยายามล้มประมูล 3G แต่ผลที่ออกมากลายเป็นพวก “ลูกอีช่างฟ้อง” ซึ่งสังคมเหม็นเบื่อ เห็นเป็นพวกถ่วงความเจริญไปเสียฉิบ
อ้อ ยังไปจับผิดงบโฆษณา กสทช.ค่ายมติชนอีกต่างหาก ปรากฏว่าจับผิดจริงๆ เพราะไปจับตัวเลขที่เขาพิมพ์ผิด
อ่านบทความทั้งหมดที่ Media Inside Out
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น