แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556

จากเขตพื้นที่สีแดงสู่เสื้อแดง เบื้องลึกที่สลิ่มยังไม่รู้

ที่มา Thai E-News



ความภักดีของชาวบ้านต่อทักษิณ และเครือข่ายทางการเมืองของเขามีสูง ความภักดีนี้ ไม่ใช่ความจงรักภักดี ที่มีคุณลักษณะความสัมพันธ์แบบระบบอุปถัมภ์ เหมือนกับผู้มีพระคุณในสมัยโบราณ 
ความสัมพันธ์ใหม่นี้ มีคุณลักษณะแบบ ผู้ให้บริการ กับ ผู้ใช้บริการ ตามท้องตลาดทางการเมือง เขาเข้าใจสิทธิของตนในฐานะพลเมืองของประเทศ ไม่นอนหลับทับสิทธิ์ เหมือนกับคนชั้นกลางและคนชั้นสูงในเมือง การเลือกตั้งจึงเป็นของจริงสำหรับ เขา

โดย ผศ.ดร.พัฒนา กิติอาษา assistant Professor SE Asian Studies, National University of Singapore
พากษ์ไทยโดย ไทยอีนิวส์

หมายเหตุไทยอีนิวส์:มี หนังสือรวบรวมบทความวิชาการ เป็นภาษาอังกฤษที่เขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ประท้วงและปราบปรามในช่วงเดือน มีนาคม-พฤษภาคม 2553 ไว้เล่มหนึ่งน่าสนใจคือ Bangkok, May 2010: Perspectives on a Divided Thailand  โดยนักวิชาการที่มีชื่อเสียงในภูมิภาคเอเชีย และของโลก เราได้แปลมากำนัลท่านผู้อ่าน 1 บทคือเรื่อง ”From Red to Red: An Auto-ethnography of Economic and Political Transitions in a Northeast Thai Village” ( จาก “เขตพื้นที่แดง” สู่ “คนเสื้อแดง”: การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจการเมือง ของหมู่บ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือไทย )

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ผู้เขียนบทความคือ ผศ.ดร.พัฒนา กิติอาษา (ซ้ายมือ)ซึ่งจบ ปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยา จาก University of Washington อาจารย์ภาควิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ได้เขียนไว้ในบทความนี้ว่า เขาเขียนขึ้นจากการเข้าไปทำการศึกษาในบ้า่นเกิดของเขาเอง ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งในจังหวัดหนองคาย ใกล้พรมแดนลาว ซึ่งมีคนในหมู่บ้านเข้าร่วมการประท้วงจากคนเสื้อแดงด้วย ...

บท ความนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นมุมมองของนักวิชาการบนหอคอยงาช้าง แต่มาจากปากคำของชาวบ้านแท้ๆจากชนบทสุดเขตประเทศไทยที่เข้าร่วมประท้วง และปิดท้ายด้วยมุมมองทางวิชาการที่ชวนขบคิด โดยเฉพาะบรรดาสื่อ กับสลิ่มอาจไม่เคยได้ยินเรื่องทำนองนี้มาก่อน

ดร.พัฒนาเพิ่งเสียชีวิตเมื่อเวลา 03.56 น.วันที่ 10 มกราคม 2556 ด้วยโรคมะเร็งร้าย ที่โรงพยาบาลNUHประเทศสิงคโปร์ ตั้งสวดอภิธรรมที่วัดอนันตเมธาราม บูกิตเมรา เป็นเวลา สามวัน เริ่มวันนี้เวลา19.30น. และมีพิธีฌาปณกิจในวันที่ 13 มกราคม ที่ Mandai Crematorium and Columbarium Complex, 300 Mandai Road.


บทนำ


การตื่นตัวและเติบโตของจิตสำนึกทางการเมืองใหม่นี้ มีพื้นฐานจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของหมู่บ้าน และการปรับตัว เปลี่ยนแปลง เคลื่อนย้ายให้สอดคล้องกับสังคม-วัฒนธรรมที่แปลงเปลี่ยนไป ชีวิตชาวบ้านและชุมชนหมู่บ้าน ได้เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก ที่ชนชั้นนำและชนชั้นกลางของกรุงเทพฯ เข้าใจผิด หรือยังไม่ค่อยเข้าใจ 

เป้าหมายหลักของบทความนี้ คือต้องการให้คำอธิบายวิกฤติการณ์ทางการเมืองไทย จากมุมมองของท้องถิ่น

นักวิชาการการเมืองไทยส่วนไหญ่ ให้ความสนใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ในโครงสร้างส่วนบนของอำนาจ ซึ่งยอมรับว่า ความขัดแย้งในปัจจุบัน เป็นความขัดแย้งแบ่งขั้วที่รุนแรงมากที่สุด

งานอันมีอิทธิพลของ แม็คคาร์โก เรื่อง “Network Monarchy and Legitimacy Crises in Thailand” และงานประเภท “’การขึ้น และ การตกลง’ ของทักษิณ ชินวัตร” ในการช่วงชิงอำนาจ

ตลอดจน งานทางบทบาทของชนชั้นกลาง ต่อ ปัญหาการพัฒนาการประชาธิปไตยไทย มีผลอันสำคัญไม่น้อยหน้า เช่นงานของ เกษียร เตชะพีระ เรื่อง “Toppling Thaksin” งานของ ผาสุก พงษ์ไพจิตร คริส เบเกอร์ “Thaksin” งานของธงชัย วินิจจะกุล “Toppling Democracy”

บทบาทที่มีอิทธิพลของชนชั้นสูง คนชั้นกลางในเมือง ที่ได้รับการยอมรับมากกว่าผู้อื่น จากข้าราชการ สื่อมวลชน ทุน และการเมืองเช่นการเลือกตั้ง มีแรงผลักดันอันสำคัญต่อเศรษฐกิจการเมืองไทย แต่การเน้นเฉพาะที่คนชั้นสูงที่เป็นชนชั้นนำ และอำนาจการต่อรองทางการเมืองของเขา ให้ภาพด้านเดียวของเรื่องราวทั้งหมดที่สลับซับซ้อน

ผู้เขียนมีความห่วงใย ในผลงานทางวิชาการที่ยังมีน้อยไม่เพียงพอ และไม่ลึกซึ้งพอ ที่เกี่ยวกับวิถีชีวิต เศรษฐกิจ การเมือง ของชนชั้นรากหญ้าตัวเล็ก ๆ วิกฤติการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทย ไม่สามารถอธิบายได้อย่างลึกซึ้งพอ ถ้าไม่เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ในอาณาจักรเล็ก ๆ ด้านเศรษฐกิจ การเมืองของชนบท

ในช่วงเดินทางกลับไปเยี่ยมหมู่บ้านเกิด เมื่อต้นเดือน มิถุนายน ๒๕๕๓ ผู้เขียนรู้สึกแปลกใจในการเปลี่ยนแปลงเป็นอันมากของวิถีชีวิต เศรษฐกิจ และระดับการมีส่วนร่วมทางการเมือง ของคนในหมู่บ้าน ต่อการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติ

บ้านของผู้เขียน ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ไม่ไกลจากเวียงจันทน์ เมืองหลวงของประเทศลาว ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำโขง

ผู้เขียนค่อย ๆ รู้สึกว่า ภูมิทัศน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ของบ้านเกิดไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เมื่อเดินผ่านไร่ของสวนยางต้นเล็ก ๆ รวมทั้งสังเกตชีวิตประจำวันของชาวบ้านขลุกกับการงาน ทำให้ผู้เขียนรู้สึกลึก ๆว่า หมู่บ้านที่ผู้เขียนโตมาในช่วงทศวรรษปี ๒๕๑๓- ๒๕๒๓ มีแต่ในความทรงจำของอดีต

ในบทความนี้ ผู้เขียนใช้สิ่งที่ได้เห็นและประสบมาด้วยตัวเอง สะท้อนให้เห็นถึงพลังที่ซับซ้อน ที่เป็นเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงโคน ของหมู่บ้านเกิด โดยจัดเป็นฉากหลัง คู่กับวิกฤติการณ์ทางการเมืองที่ยังดำรงอยู่ในปัจจุบัน

เริ่มด้วยการเฝ้าดูการแตกแยกทางการเมือง ซึ่งเห็นได้ชัดว่า เป็นปรากฏการณ์อันสำคัญของไทย ผู้เขียนจะใช้เรื่องราวจากประสบการณ์ที่ได้จากการเยี่ยมเยียนบ้าน มาเป็นข้อคิดต่อคำถามที่ว่า เพราะเหตุใดและอย่างไร ชาวบ้านในชนบทไทย ได้กลายเป็นผู้สนับสนุนอย่างแข็งแกร่งของขบวนการคนเสื้อแดงที่สนับสนุนทักษิณ โดยตั้งคำถามว่า อะไรคือรากฐานสำคัญของความคิดทางการเมืองของพวกเขาในปัจจุบัน และอะไรคือสิ่งที่เขาคาดหวัง

ผู้เขียนยืนยันว่า การที่ชาวบ้านในชนบทเข้าร่วมประท้วงรัฐบาลในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ในช่วงมีนา เมษา พฤษภา ๒๕๕๓ แสดงถึงการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองระดับชาติ ซึ่งแรงจูงใจมาจากจิตสำนึกของพลเมือง และการตื่นตัวเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมือง 

การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลง ที่รุนแรงในทางเศรษฐกิจการเมือง และวิถีชีวิตการเป็นอยู่จาก วิกฤติเศรษฐกิจเอเซียเมื่อปี ๒๕๔๐ และจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ โลกของชนบทได้แผ่ขยายขึ้น ซึ่งทำให้ขอบเขตของบทบาททางเศรษฐกิจการเมืองของชนบทขยายตามเป็นเงาตามตัว

โลกทางการเมืองของชาวบ้าน ไม่เฉพาะแต่สนิทแนบแน่นกับการเมืองระดับชาติ หรือเศรษฐกิจโลกเท่านั้น แต่การค้นพบ “องค์กร และ ตัวตน” ทำให้กรอบของการปฏิบัติการณ์ทางการเมือง เลยขอบเขตของหมู่บ้าน

ผู้เขียนขอเสนอว่า ทางเดียวที่จะทำความเข้าใจถึงชาวบ้านในชนบท และมวลชนผู้ใช้แรงงานบางส่วนผู้มาจากชนบท ซึ่งเป็นมวลชนส่วนใหญ่ของขบวนการคนเสื้อแดง คือ ต้องเข้าใจถึงจิตสำนึกทางการเมือง และการตื่นตัวทางการเมืองของชาวชนบท ต่อการทำมาหาเลี้ยงชีพ ซึ่งนับวันติดแนบแน่น และเปลี่ยนแปลงดังเช่นสมาชิกอื่น ๆของเศรษฐกิจโลก 

การตื่นตัวและเติบโตของจิตสำนึกทางการเมืองใหม่นี้ มีพื้นฐานจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของหมู่บ้าน และการปรับตัว เปลี่ยนแปลง เคลื่อนย้ายให้สอดคล้องกับสังคม-วัฒนธรรมที่แปลงเปลี่ยนไป ชีวิตชาวบ้านและชุมชนหมู่บ้าน ได้เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก ที่ชนชั้นนำและชนชั้นกลางของกรุงเทพฯ เข้าใจผิด หรือยังไม่ค่อยเข้าใจ

คลื่นการเปลี่ยนแปลงในชนบท


โลกทางสังคมรวมทั้งความคิดทางการเมืองของเขา ถูกพลิกโฉมจากพื้นฐานของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเขา ที่ได้รับการเปลี่ยนจากเดิมอย่างสิ้นเชิง


จังหวัดในภาคอีสานส่วนใหญ่ ซึ่งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นฐานสนับสนุนที่มั่นคงของทักษิณ และของคนในเครือข่ายการเมืองการเลือกตั้งของเขา รวมตัวในนามคนเสื้อแดง ชาวบ้านในเขตเลือกตั้ง จว.หนองคายก็เช่นเดียวกัน

เขาเหล่านั้นชื่นชมอดีตนายกรัฐมนตรี ฯ และรู้สึกว่าการล้มรัฐบาลเขา จากการรัฐประหารเมื่อปี ๒๕๔๙ ไม่มีความชอบธรรม เหตุที่เขาชื่นชอบทักษิณ เพราะเป็นผู้ที่ประสพความสำเร็จทางด้านธุรกิจ มีนโยบายการบริหารประเทศแบบประชานิยม มีนโยบายกระจายงบประมาณของชาติให้กับคนรากหญ้าเช่นเขา

ไม่ถึง ๓ สัปดาห์หลังจากการใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน เมื่อวันที่ ๑๙ พค. ๒๕๕๓ ผู้เขียนได้กลับไปแวะเยี่ยมบ้าน พ่อของผู้เขียน ซึ่งเกษียณแล้วจากครูใหญ่ และได้รับลือกเป็นนายก อบต. ๒ ครั้งตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ เล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านเป็นจำนวนมาก รวมทั้งญาติของผู้เขียน ได้เข้าร่วมชุมนุมประท้วงรัฐบาลในกรุงเทพฯ กับพวกเสื้อแดง ในช่วงกลางเดือน มี.ค. ๒๕๕๓

พ่อของผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า “ชาวบ้านทุกวันนี้สนใจการเมืองมาก มีรถกระบะไม่ต่ำกว่าสองคันพาผู้คนจากหมู่บ้านเราไปกรุงเทพฯ เพื่อแสดงการสนับสนุนทักษิณและคนเสื้อแดง พวกเขาไม่กลัวการปราบปรามของทหาร และพร้อมที่จะเสี่ยงชีวิต”

ข้อเสนอที่ว่าชาวบ้านในชนบท ไม่ยินดียินร้ายกับการเมืองระดับชาติ เป็นเรื่องของอดีตไปแล้ว พ่อผู้เขียนเสนอว่า เดิมชาวบ้านไม่สนใจการเมืองมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองระดับชาติ ทั้งยังไม่เคลื่อนใหวเข้าร่วมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในด้านเศรษฐกิจ สังคม

แต่ชาวบ้านทุกวันนี้ ไม่เหมือนกับชาวบ้านรุ่นก่อน ๆ ที่นอบน้อมข้าราชการ และไม่ค่อยออกหางานในที่ ๆห่างไกลจากบ้าน กรุงเทพฯ และต่างประเทศเหมือนอีกโลกหนึ่ง

จากความทรงจำวัยเด็ก หมู่บ้านผู้เขียนเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ น้อยกว่า ๕๐ ครัวเรือน ในช่วงกลางทศวรรษ คศ. 1970s พ่อย้ายมาเป็นครูประจำหมู่บ้าน และแต่งงานกับแม่ ในปี ๒๕๐๘ พ่อย้ายมาจากหมู่บ้านใกล้อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ส่วนแม่ เกิดที่ลาวในปี ๒๔๙๐ แต่โตในหมู่บ้านไทยริมฝั่งแม่น้ำโขง ทวดฝ่ายแม่ เป็นคนหนึ่งที่ก่อตั้งหมู่บ้านนี้ พวกเขาย้ายมาจากลาวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อกองทัพญี่ปุ่นรุกลาว

ในประวัติ๘๐ปีที่ผ่านมาผู้ใหญ่ทางแม่ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านทุกครั้ง

ในหลายสิบปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีคนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้าน ชาวบ้านอาศัยความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ เช่น ดิน ป่า แม่น้ำโขง หาเลี้ยงชีพ พวกเขาดำรงชีวิตด้วยการปลูกข้าวในที่ต่ำและที่สูง

อาศัยความชุมของปลาในแม่น้ำโขง สัตว์ในป่าและพืชผลตามภูเขาเป็นอาหาร ต้นไม้ ไม้ไผ่ ปลา และผลผลิตต่าง ๆของป่า คนในหมู่บ้านจะลำเลียงใส่แพไปขายที่ตลาดในเวียงจันทน์ ศรีเชียงใหม่ ท่าโพธ์ และหนองคาย

ถนนเล็ก ๆที่เชื่อมกับถนนใหญ่ ยังไปไม่ถึงพื้นที่แถบภูเขา จนกระทั่งช่วงทศวรรษคศ. 1960s สมัยสงครามอินโดจีน ประเทศไทยได้รับการช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในนโยบายต่อต้านปราบปรามคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค หมู่บ้านของผู้เขียนจึงได้รับอานิสงส์ไปด้วย เพราะทางหน่วยงานความมั่นคงไทย จัดหมู่บ้านของผู้เขียนอยู่ใน “เขตพื้นที่แดง” ซึ่งติดกับเขตพื้นที่ ที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และแนวร่วมคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม และลาว

ต่อมาหมู่บ้านของผู้เขียนค่อยๆ ถูกดึงเข้าสู่ระบบตลาด พืชเศรษฐกิจรุ่นแรก ๆที่เข้ามาในหมู่บ้านในช่วง คศ. 1970s คือ ปอแก้ว ฝ้าย ข้าวโพด และถั่วเหลือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในชุมชนทันที ต้นไม้ในป่าถูกตัดมากขึ้น ประชากรเพิ่มมากขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจของแต่ละครอบครัวเริ่มมีความหลายหลาก

ชาวบ้านงุ่นกับกิจกรรมการเพาะปลูกในช่วงฤดูฝน และฤดูแล้ง มันสำปะหลังและกล้วย กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ที่ส่งผลให้เกิดการตัดต้นไม้ทำลายป่าอย่างกว้างขวางหลังมีส่วนร่วมอย่างแนบ สนิทกับตลาดโลก

ครอบครัวของผู้เขียน รวมทั้งญาติและเพื่อนบ้าน พึ่งพาอาศัยการเลี้ยงชีพจากการผลิต และขายพืชผลเหล่านี้กับพ่อค้าในท้องถิ่นเป็นหลัก

จากการกลับไปเยี่ยมบ้านหลายครั้ง มีครั้งหนึ่งในเดือน มิย. ๒๕๕๓ ผู้เขียนได้ไปชมไร่ของปู่ ซึ่งเคยเป็นพื้นที่เกษตร แต่ตอนนี้ได้กลายเป็นสวนยางพาราต้นเล็ก ๆ ในทศวรรษที่ผ่านมา จากการสังเกตกรรมวิธีที่คนงานทำแผ่นยางจากต้นยาง ซึ่งวางไว้เป็นบล็อก ๆ ผู้เขียนรู้ดีว่าที่ๆยืนอยู่เดิมที่ป็นที่ๆผู้เขียนเรียนรู้การทำไร่ไถนา ปลูกข้าว ขี่ควายกับเพื่อน ๆ เมื่อสมัยเป็นเด็กนักเรียนชั้นประถมในทศวรรษ คศ. 1970s

แต่ในตอนปลายทศวรรษ 1970s และ 1980s ที่ดินนี้ได้กลายเป็นพื้นคอนกรีตขนาดใหญ่ สำหรับตากมันสำปะหลังให้แห้ง

มันสำประหลังแห้งถูกหั่นเป็นชิ้น ๆ แล้วถูกขายต่อให้กับโรงงานในเมือง เป็นวัสดุดิบสำหรับการผลิตแป้งมันสำประหลังหรืออาหารสัตว์ ที่ถูกส่งออกไปหลายประเทศในเอเซียและยุโรป

พืชเศรษฐกิจได้ซึมเข้าไปในทุกอณูของเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของสังคมในหมู่บ้านแบบเป็นระลอกคลื่น ในปลาย คศ. 1980s การส่งออกของมันสำปะหลังถูกชะงักลง เนื่องด้วยความต้องการของตลาดลดลงอย่างมาก ชาวบ้านต้องหารายได้ใหม่จากทางอื่น

สิ่งที่เขาค้นพบมีอยู่สองทาง คือ เป็นกรรมกรขายแรงงาน หรือทำไร่สวนยางพารา ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านในหมู่บ้านแถบนั้นส่วนใหญ่ทำอยู่ ในระหว่างทศวรรษ คศ. 1990s สนามซีเมนต์คอนกรีต สำหรับตากแดดมันสำปะหลังให้แห้ง ถูกปล่อยว่างเปล่า เต็มไปด้วยหญ้าและวัชพืชที่ขึ้นตามธรรมชาติ

ลูกหลานของปู่ รวมทั้งผู้เขียนเอง ถ้าไม่เรียนต่อ ก็ไปทำงานในเมือง ขณะที่ปู่ยังเลี้ยงควาย ลุงกับป้าผู้ได้รับมรดกที่ดิน ได้แปลงส่วนหนึ่งของที่ดิน และที่ข้างเคียงเป็นสวนยางพารา ซึ่งเป็นสวนยางพาราที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในหมู่บ้าน เงินลงทุนที่นำมาลงทุนสวนยาง ได้มาจากผลกำไรที่งามมากจากการขายกล้วยในตลาดเมืองสตึก จว. บุรีรัมย์

พวกเขาต้องจากปู่หลายปี ทำงานเก็บเงินเป็นค่าเล่าเรียนลูกหลานในกรุงเทพฯ

ยางพาราเป็นพืชพาณิชย์ที่แปลกใหม่สำหรับเมืองไทย มีพื้นฐานเริ่มต้นในยุคล่าอาณานิคม จักวรรดินิยมยุโรปเป็นผู้แนะนำการเพาะปลูกจากประเทศบราซิล มาเผยแผ่ในประเทศทวีปเอเซีย เริ่มจากภาคใต้ของไทย หรือตอนเหนือของแหลมมาลายู แล้วลามไปที่ที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

ซึ่งการแผ่ขยายนี้เกิดจาก การโยกย้ายของแรงงานตามภูมิภาคต่าง ๆ ควบกับการส่งเสริมการเกษตรของหน่วยงานของรัฐ ในกลางทศวรรษ คศ. 1990s

เสน ญาติห่าง ๆคนหนึ่งของผู้เขียน และน้องชายของเขา สมหมาย ร่วม เดินทางกับชาวบ้านในอีสานตอนเหนือ ไปขายแรงงานภาคใต้ ซึ่งเป็นครั้งแรกสำหรับเขา พวกเขายังหนุ่มแน่น วัย ๒๐ กว่า ๆ ไม่มีครอบครัว มีทักษะทางการเพาะปลูกทางเกษตร ได้รับจ้างทำงานจากเจ้าของสวนยางและสวนผลไม้ ใน จว. สุราษฏร์ธานี ภาคใต้ของไทย

พวกเขาใช้เวลามากกว่า ๑ ปีเก็บเงิน และนำความรู้จากการเพาะปลูกสวนยางกลับบ้าน มาเปิดร้านขายต้นยาง ด้วยความช่วยเหลือจากภาครัฐ ด้านการฝึกอบรมและการสนับสนุนด้านเท็คนิคของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พวกเขามีความเชี่ยวชาญเรื่องสวนยางมากขึ้น

นับได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกการปลูกสวนยางในหมู่บ้านผู้เขียน นับตั้งแต่ช่วงกลางของทศวรรษที่ 2000 พื้นที่เพาะปลูกสวนยาง แผ่ขยายมากขึ้นอย่างรวดเร็วในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

การขยายตัวนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการยางทางธรรมชาติในตลาดโลกสูงขึ้น ซึ่งทำให้เจ้าของสวนยางในภาคใต้จำนวนมาก ย้ายการทำสวนยางจากใต้ ซึ่งต้นยางมีผลผลิตต่ำ เนื่องด้วยต้นยางแก่ ที่ดินแพง หันมาลงทุนซื้อที่ดินแถบอีสานที่ถูกกว่ามากทำสวน

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของชีวิตในหมู่บ้านของผู้เขียน ได้ขยายการรับรู้ความสนใจทางการเมืองของชาวบ้านมากขึ้น จากการสังเกตของผู้เขียน การดำรงชีวิตทางการเกษตรในหมู่บ้านของผู้เขียนที่เปลี่ยนไป ไม่สอดคล้องกับวิถีแบบเศรษฐกิจพอเพียง ดังคำอธิบายและชอบย้ำของกลุ่มนักวิชาการไทย เอ็นจีโอ และเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ

ชาวบ้านไม่ได้เป็นชาวนาที่ปลูกข้าวแบบดั้งเดิมอีกแล้ว ชีวิตเศรษฐกิจและสังคมของหมู่บ้าน มีความซับซ้อน เปลี่ยนแปลงมากขึ้น พืชเศรษฐกิจมีความหลากหลาย ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ชาวบ้านดำรงชีวิตทั้งสองรูปแบบ แบบอยู่รอดพอเพียง และแบบการผลิตทางการเกษตรเพื่อตลาด พวกเขามีทั้งพวกปลูกข้าวและอาหารเพื่อการบริโภคอย่างพอเพียง

บางพวกมีอาชีพอื่น หาเงินมาซื้อข้าวปลาอาหารจากเพื่อนบ้าน ซึ่งพวกนี้จะเป็นพวกที่มีรายได้สูงกว่า ไม่แตกต่างจากผู้ใช้แรงงาน และบุคคลอื่น ๆในสังคมสมัยใหม่ของไทยในปัจจุบัน ต่างก็มีกิจการทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไป

โลกทางสังคมรวมทั้งความคิดทางการเมืองของเขา ถูกพลิกโฉมจากพื้นฐานของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเขา ที่ได้รับการเปลี่ยนจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

กลายเป็นผู้ประกอบการทางการเมือง

ในหมู่นักวิชาการและนักวิเคราะห์การเมืองไทย ที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับการเมืองไทย มีความเข้าใจผิดอยู่ประการหนึ่ง คือชอบตั้งสมมุติฐานว่า ชาวบ้านในชนบทเป็นคนไร้เดียงสาทางการเมือง ชาวบ้านเป็นคนเฉย ๆ ซื่อ ถูกอิทธิพลของเงินกล่อมในเรื่องการเมืองการเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริง ชาวบ้านในชนบทและผู้ใช้แรงงาน มีความเข้าใจถึงความซับซ้อนของการเมือง ไม่ต่างจากคนชั้นกลางในเมืองที่มีการศึกษา พวกเขามีความสำคัญ 


อาจจะพูดได้ว่าเป็นผู้ประกอบการการเมือง ผู้มองเห็นว่า การเลือก ตั้งเป็นวิธีอันใหม่ของการต่อรองทางอำนาจ ความสัมพันธ์ ผลประโยชยน์ และทรัพยากรอื่นๆ พวกเขาตระหนักว่า พวกเขามีบทบาทสำคัญของการเลือกตั้งระดับต่างๆ ในประเทศไทย ชาวบ้านในชนบทและชนชั้นผู้ใช้แรงงานชนบทในเมือง มีพัฒนาการของการเข้าใจการเมืองด้วยตัวเอง

ชาวบ้านยอมรับการเลือกตั้ง เพราะความสัมพันธ์ในแบบเคลือญาติในหมู่บ้าน และเพราะได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ชาวบ้านเข้าใจดีถึงเรื่องเกียรติยศของการลงสมัครเลือกตั้ง โอกาสที่จะชักจูงนโนบาย เรื่องส่วนแบ่งสินบนของโครงการขนาดใหญ่ ตรรกะที่ว่า “ใครควรได้อะไร แค่ใหน อย่างไร” ซึ่งเห็นได้ชัดในการเมืองระดับท้องถิ่น

หมู่บ้านไทยในอดีตไม่เคยถูกแยกออกจากการเมืองระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ ในปีทศวรรษ คศ. 1970s หมู่บ้านของผู้เขียนเป็นสมรภูมิการต่อสู้ทางอุดมการณ์ในช่วงสงครามอินโดจีน ข่าวสารข้อมูล เข้ามาในหมู่บ้านน้อยมาก

หมู่บ้านไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา พวกเราฟังข่าวการสังหารหมู่นักศึกษาประชาชนในธรรมศาสตร์ การปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และข่าวของรัฐบาลทหาร จากวิทยุ หนังสือพิมพ์ที่ได้รับความนิยมมาก คือ ไทยรัฐ ซึ่งผู้ใหญ่บ้านจะได้รับเป็นครั้งคราว จากโปรแกรมที่รัฐบาลออกเงินค่าสมัครสมาชิกให้ ในหมู่บ้านทั่วประเทศ

หลังจากประเทศเพื่อนบ้าน เวียดนาม ลาว และเขมร แพ้คอมมิวนิสต์ในปี คศ. 1975 ข่าวที่เกี่ยวกับการเมืองในประเทศและต่างประเทศ จากสถานีวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาล ค่อนข้างเข้มข้นและให้ระวังภัยคอมมิวนิสต์ เพลงปลุกระดมรักชาติ ถูกออกอากาศบ่อย

พวกเราถูกเตือนให้กลัวภัยจากคอมมิวนิสต์ ผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน ต้องเข้าร่วมฝึกเป็นลูกเสือชาวบ้าน หรือเป็นอาสาสมัครไทยอาสาป้องกันชาติ

พวกเขาได้รับการสั่งสอน เรื่องการรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่พลเมือง พวกเขาได้รับการฝึกอบรมการใช้อาวุธพื้นฐาน และการรวมตัวเป็นหน่วยป้องกันตนเอง

พ่อของผู้เขียนซึ่งเป็นครูใหญ่ มักจะเป็นเจ้าภาพ เลี้ยงรับรองหน่วยสงครามจิตวิทยาทหาร ที่มาเยือน

การอพยพเข้ามาของชาวม้ง และผู้ลี้ภัยชาวลาวใน จว. หนองคายและ จว. นครพนม ถูกยกเป็นตัวอย่างถึงอันตรายของคอมมิวนิสต์ และเป็นอุทาหรณ์ถึงการล่มสลายของประเทศชาติ ถ้าขาดความสามัคคีในหมู่ประชาชน และภัยจากการรุกรานจากต่างประเทศ

ที่น่าเศร้าคือ คนลาวที่อพยพจากบ้านเกิด หลังจากประเทศได้เปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อปลายปี 1975 เป็นญาติของผู้เขียนเอง และจะมีการย้ำเตือน ถึงความเป็นคนไทย เป็นชาวพุธ อยู่ในราชอาณาจักรที่เป็นประชาธิปไตย แตกต่างจากผู้ลี้ภัยสงครามชาวลาว

ชีวิตในวัยเด็กของผู้เขียนที่ตื่นเต้น ที่ผู้เขียนจำได้เมื่อตอนเติบโตในหมู่บ้านช่วงสงครามเย็น คือ โรงหนังกลางแปลง ซึ่งทหารไทยนำมาให้ “เขตแดง” จากการสนับสนุนช่วยเหลือของหน่วยสงครามจิตวิทยาของซีไอเอ พวกเราชอบดูหนังคาวบอยสมัยเก่า และหนังบู๊ของไทย

เพื่อน ๆและผู้เขียนยังเคยเล่นเลียนแบบหนัง เล่นเป็นตัวเอก แสดงเองในลานโรงเรียน และตามทุ่งนาตอนเลี้ยงควาย หลังเลิกเรียน

ในยุคนั้น การซื้อขายเสียงระดับชาติและระดับท้องถิ่น เป็นเรื่องที่คิดมาจากส่วนกลาง เมื่อตอนผู้เขียนเป็นเด็ก ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในหมู่บ้านจะคิดถึงเรื่องสองเรื่อง เรื่องหนึ่งคือ หมายเลขของผู้สมัครที่ตัวเองชอบ เรื่องที่สอง จำนวนเงินที่จะได้รับจากผู้นำท้องถิ่น หรือหัวคะแนน ซึ่งเป็นตัวกลางระหว่างผู้สมัครกับผู้มีสิทธิลงคะแนน

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใหญ่ จะเลือกผู้ที่ให้เงินค่อนข้างแน่นอน บัตรประชาชนทำเงินได้ในช่วงการเลือกตั้ง ผู้สมัครที่ให้เงินมากที่สุด มักเป็นผู้ชนะ

แต่บางครั้ง เงินไม่อาจจะเป็นปัจจัยชี้ขาดอย่างเดียวในการชนะการเลือกตั้ง ครั้งหนึ่งในการเลือกตั้งทั่วไปก่อนเหตุการณ์อันเศร้าสลดเมื่อ 6 ตค. ๒๕๑๙ ผู้ชนะเลือกตั้ง สส. หนองคายเขตหนึ่ง คือนิตินัย นาครทรรพ จากพรรคพลังใหม่ที่สนับสนุนแนวทางสังคมนิยม

ตอนนั้นผู้เขียนอยู่ชั้น ป. ๔ ผู้เขียนกับเพื่อน ออกไปแจกใบปลิวให้กับผู้สมัคท่านนี้ เราเด็กๆ ไม่เคยคิดว่างานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ทางการเมือง เห็นแต่ความสนุก และผู้ใหญ่ในหมู่บ้านคะยั้นคะยอให้เราออกไปช่วย

การเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนัน เป็นการเลือกตั้งที่สำคัญที่สุดในสมัยที่ผู้เขียนเป็นเด็ก การเลือกตั้งสภาตำบล ซึ่งตอนนี้ไม่มีแล้ว หรือการเลือก สส. ไม่ค่อยมีความสำคัญเท่าไหร่สำหรับชาวบ้านในหมู่บ้าน

จนกระทั่งมีการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. ในยุคกระจายอำนาจไทยช่วงปลายทศวรรษ คศ. 1990s มีอยู่ครั้งหนึ่งญาติฝ่ายแม่ของผู้เขียน ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านในปลาย คศ. 1970s พวกเราญาติ ๆช่วยหาสียง และลงคะแนนให้ พวกเราเห็นว่าเป็นหน้าที่และเป็นเกียรติ ที่ได้ช่วยคนในครอบครัว

ครอบครัวของญาติทางแม่เป็นครอบครัวใหญ่ที่สุดในหมู่บ้าน ไม่มีใครสามารถชนะการเลือกเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านแข่งกับกับญาติ ๆของเราได้จนกระทั่งบัดนี้ การเลือกตั้งประธาน อบต. ก็เช่นเดียวกัน

ยกเว้นจะมีครอบครัวที่ใหญ่กว่าจากหมู่บ้านอื่นเข้าแข่งด้วย ในอดีต ครอบครัวใหญ่ที่มีญาติแยะอยู่ในหลายหมู่บ้าน มักได้เปรียบ แต่ถ้ามีผู้สมัครเป็นคนรวย สัญญาจะให้เงินหรือของตอบแทน มักจะชนะการเลือกตั้ง การเปลี่ยนการเลือกตั้งจากสภาตำบล มาเป็นการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล ในช่วงกลางทศวรรษ 1990s ช่วยเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งของคนรากหญ้า เป็นรูปแบบการเลือกตั้งทั่ว ๆไปของประเทศ ที่อำนาจเงิน บารมีของผู้มีอิทธพลท้องถิ่นและเครือข่าย มีอิทธิพลมากขึ้น ธุรกิจทางการเมืองของการซื้อขายเสียง ได้กลายเป็นการลงทุน

การเลือกตั้งจะถูกมองโดยผู้สมัคร และผู้มีสิทธิลงคะแนน เสมือนเป็นเส้นทางเก็บเกี่ยวผลกำไร หลังเลือกตั้ง

อำนาจเงินได้ทำลายความสัมพันธ์ของระบบเครือญาติ และผลักระบบนี้ให้ไปอยู่ด้านหลัง แต่ทั้งเงินและระบบเครือญาติ ยังเป็นพลังที่สำคัญในการเก็บเกี่ยวคะแนนเสียงจากชาวบ้าน สองสิ่งนี้จำเป็น

โดยพื้นฐานแล้วสองสิ่งนี้มีความสำคัญยิ่งกว่าชื่อเสียง หรือความสามารถ จากประสพการณ์ของพ่อที่ลงสมัครเลือกตั้ง อบต. สองครั้ง ทำให้พ่อเชื่อมั่นว่า เงินสามารถซื้อใจของการเมืองไทยได้

พ่อจะจัดคนทำงานในทีมอย่างรอบคอบระมัดระวัง พ่อจะหาคนจากหลายๆหมู่บ้าน พ่อชอบที่จะเลือกคนร่วมงานที่มาจากครอบครัวมีอันจะกิน และมีผู้สนับสนุนอยู่แล้ว ความเชื่อถือ ความสามารถ ชื่อเสียง อย่างเดียวของผู้สมัครไม่สามารถทำให้ประสพความสำเร็จในการเมืองยุคใหม่นี้ "ทุกคนซื้อเสียง"เสียง” พ่อและทีมงานเคยบอกกับผู้เขียน
มันเป็นความลับที่ใครๆก็รู้ของการเมืองไทย พ่อเคยเล่าให้ฟังว่า กลยุทธ์ของเขาคือ รวบรวมเงิน คน และทรัพยากรอื่นๆ “เราต้องเริ่มด้วยการหา "กระสุน" ‘กระสุน’ เพื่อทำคะแนน หากคุณไม่มีเงิน คุณลืมได้เลยว่าจะชนะการเลือกตั้ง”
การเปรียบเทียบเงินซื้อเสียง เหมือนกับกระสุนนี้ อาจฟังแล้วรุนแรง แต่เป็นภาษาที่ผู้มีอำนาจ เช่น เจ้าพ่อ นักการเมืองชอบใช้ “ผู้สมัครยิ่งรวย ยิ่งมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง” เขาจะสั่งให้คนในที่ออกหาคะแนนเสียง
คนในที่จะคำนวนว่า จะจ่ายหัวคะแนนคนละเท่าไหร่ และจะต้องหาคะแนนเสียงแค่ใหนจากแต่ละหมู่บ้าน ที่จะต้องซื้อถึงจะชนะ ทีมงานจะต้องวิเคราห์จุดอ่อน จุดแข็งของฝ่ายตรงข้าม ในขณะที่ต้องมีแผนออกแคมเปนอย่างเป็นระบบ แม้ว่าพ่อจะเป็นคนที่มีชื่อเสียงขนาดเป็นครูใหญ่ แต่ชนะการเลือกตั้งผู้สมัครที่รวยกว่าจากหมู่บ้านอื่นที่ใหญ่กว่าด้วยคะแนน เสียงนิดเดียว ในการเลือกตั้ง สองครั้งเมื่อปี คศ. 2005 และ 2008

ร่วมขบวนเสื้อแดงด้วยใจ


พวกเราไม่ได้รับจ้างมาประท้วง แต่เราได้ค่าน้ำมันรถจาก ส.ส.เขต คงผ่านมาทางพวกทักษิณและเครือข่ายของเขาอีกที แต่นี่เป็นค่าน้ำมันเพื่อเติมน้ำมันไปประท้วง ไม่ใช่้การรับจ้างประท้วง ถ้าเราคิดจะทำเพื่อเงินจริง ๆ เราอยู่บ้านทำมาหากินตามปกติไม่ดีกว่าหรือ มองกลับกันแล้วเเราขาดรายได้ไปเยอะ จากการไปประท้วงที่กรุงเทพฯเป็นอาทิตย์ๆ และไหนยังอันตรายอีกด้วย  

เขตุเลือกตั้งไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีชื่อเสียงไม่ดีเป็นที่รู้กันว่ามีการซื้อขายเสียงอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่สมัยอดีตนายกรัฐมนตรี เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ที่ซื้อที่นั่ง สส. ในรัฐสภาจาก จว.ร้อยเอ็ดช่วงปลายทศวรรษ คศ. 1970

การซื้อขายเสียงในการเมืองไทย เป็นเรื่องที่ถูกบันทึกที่รู้กันดี แต่พอมาถึงยุคทักษิณและพรรคไทยรักไทย ในปี คศ. 2001 เงินในการเมืองไทย ดูเหมือนจะมีบทบาทใหม่ ด้วยเงินทุนที่มีอย่างมหาศาล พร้อมทั้งมีนักวางแผนมืออาชีพที่มีประสพการณ์ การวางนโยบายใหญ่ ๆที่เน้นประชานิยม เช่น กองทุนพัฒนาหมู่บ้าน ๓๐-บาทรักษาทุกโรค ทักษิณได้ยกระดับการซื้อคะแนนเสียงทางการเมือง ที่แตกต่างเหนือชั้นออกไปจากเดิม

โดยใช้เงินภาษีอากรของประชาชน ผันเข้าโปรแกรมที่มีผลประโยชน์โดยตรงกับชาวบ้านผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ผ่านบุคคลต่างๆ ที่เป็นเคลือข่าย เช่นหัวคะแนน ผู้มีอิทธิพล ข้าราชการ และนักการเมืองท้องถิ่น

บ่ายวันหนึ่ง พ่อได้แนะนำผู้เขียนไห้ไปคุยกับป้าคำทอง อายุ ๖๑ เพื่อนบ้านที่เพิ่งกลับมาจากกรุงเทพฯ ป้าคำทองยิ้มตาเป็นประกาย ขณะที่ทบทวนความจำและประสบการณ์ของเธอในกรุงเทพฯ ในการเข้าร่วมสนับสนุนการประท้วงรัฐบาลของคนเสื้อแดงในกรุงเทพฯเมื่อเดือน มีค. เมย. ๒๕๕๓

“ป้าไปกรุงเทพฯ เป็นอย่างไรบ้างครับ?” ผู้เขียนเริ่มสนทนา

ป้าคำทองเล่าเรื่องเธอด้วยความภมิใจ “ป้าไปกรุงเทพฯ ๒ ครั้ง นั่งรถบรรทุกไปกับเพื่อนบ้าน คนขับก็อยู่ในหมู่บ้านเดียวกับป้า ป้าอยู่ในกรุงเทพ ๑๐ วันตอนไปครั้งแรก ครั้งที่สอง ๑๔ วัน ก่อนจะไปก็รุ้สึกตื่นเต้นและห่วงเรื่องความปลอดภัยเหมือนกัน เพราะไม่เคยไปประท้วงอะไรแบบนี้ กรุงเทพฯต่างจากหมู่บ้านของเรามาก ตอนหลังก็หายห่วง สบายใจขึ้นเมื่อได้พบคนเสื้อแดงที่มาชุมนุม พวกเราเยอะมาก เราถูกแบ่งตามจังหวัดที่มา และอยู่ในเต็นท์ที่ราชประสงค์ ป้ามีเพื่อนใหม่มาก เป็นคนจากต่างจังหวัด ทุกคนสนิทสนมกัน เราแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล”

“ทำไมถึงไปครับ” ผู้เขียนถามต่อ

“พวกเราชอบทักษิณและต้องการให้เขากลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก รัฐบาลและพวกทหารไล่เขาออกจากอำนาจ รัฐบาล(อภิสิทธิ์) ทำให้เศรษฐกิจแย่”

“ไปกรุงเทพชอบใหม?”

“ป้าสนุกมากในกรุงเทพฯเราฟังอภิปรายของผู้นำ สลับการฟังดนตรี อาหารและเครื่องดื่มมีเยอะมาก มีข้าวกล่อง กับข้าวที่ทำกินกันเองที่นั่น ชากาแฟก็มี พวกเราร้องเพลงเต้นรำอย่างสนุกสนานโดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนกลางคืน เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับชาวบ้านที่มาจากที่อื่น ป้ายังคิดถึงเพื่อน ๆที่มาจากขอนแก่น และมุกดาหารเลย”

“ป้าคิดยังไงกับการปราบประชาชนของรัฐบาล” ผู้เขียนอยากทราบความรู้สึกที่แท้จริง

“ป้าคิดว่ารัฐบาลปฏิบัติต่อเราแย่มาก พวกเขามีอคติกับเรามาก คนในกรุงเทพฯจำนวนมาก ดูถูกพวกเราคนจนจากชนบท ป้าร้องให้ ให้กับเพื่อนๆที่บาดเจ็บล้มตายจากการปราบปราม ทหารยิงเรายังกับผักปลา ป้าโกรธและเศร้ามาก”

“ลุงและพวกลูกๆไม่ห่วงแย่หรือครับ ถึงความปลอดภัยของคุณป้าที่กรุงเทพ?” ป้าตอบว่า “พวกเขาห่วงแต่ไม่มากนัก เพราะเราคุยกันทางโทรศัพท์เกือบทุกวัน ป้ารู้ว่าเราปลอดภัย เพราะเต็นท์เราห่างจากจุดสำคัญ อีกอย่างหนึ่ง เราเป็นคนแก่ไม่มีอาวุธที่จะเป็นพิษเป็นภัยกับใคร”

ผู้เขียนสงสัยอยู่เสมอว่า ข้อกล่าวหาที่ว่าทักษิณจ้างชาวบ้านคนเสื้อแดงมาประท้วงนั้น จริงเท็จแค่ใหน ผู้เขียนได้ไปเยี่ยมเพื่อนเก่าสมัยเป็นนักเรียน สม กับ ชัย คนเสื้อ แดงในหมู่บ้าน เราเป็นเพื่อนนักเรียนสมัยทศวรรษ คศ. 1970s เขาทั้งสองมีรถบรรทุก ขายกล้วยและผลไม้ตามตลาดในหนองคาย และเมืองใกล้เคียง

เขาพาชาวบ้าน รวมทั้งป้าคำทองเข้ากรุงเทพฯ ผู้เขียนถามถึงเรื่องค่าใช้จ่ายการเดินทาง ชัยตอบว่า “พวกเราไม่ได้รับจ้างมาประท้วง แต่เราได้ค่าน้ำมันรถจาก ส.ส.เขต คงผ่านมาทางพวกทักษิณและเครือข่ายของเขาอีกที แต่นี่เป็นค่าน้ำมันเพื่อเติมน้ำมันไปประท้วง ไม่ใช่้การรับจ้างประท้วง ถ้าเราคิดจะทำเพื่อเงินจริง ๆ เราอยู่บ้านทำมาหากินตามปกติไม่ดีกว่าหรือ มองกลับกันแล้วเเราขาดรายได้ไปเยอะ จากการไปประท้วงที่กรุงเทพฯเป็นอาทิตย์ๆ และไหนยังอันตรายอีกด้วย ขับรถกลับไปกลับมาระหว่างหนองคายกับกรุงเทพฯ แต่เราก็ทำ เพราะเราต้องการช่วยเหลือขบวนการเสื้อแดงด้วยความเต็มใจ รัฐบาลทำกับทักษิณกับพวกเรา ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม”

หลังจากคุยกับคนไม่กี่คนในหมู่บ้าน ผู้เขียนได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับ การเคลื่อนใหวทางการเมืองครั้งล่าสุดของชาวบ้าน

ชาวบ้านในหมู่บ้านมีส่วนเข้าร่วมกับการเมืองในระดับท้องถิ่นและระดับชาติแบบ ใกล้ชิดเข้มข้นมาก อย่างที่พ่อเคยบอก ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าคำอธิบายที่มักได้ยินต่อไปนี้ ถูกต้องหรือไม่

คำอธิบายที่ว่า ในช่วงฤดูแล้ง มีนา เมษา พฤษภา ชาวบ้านไม่ค่อยมีงานทางเกษตร พวกเขาจึงไปประท้วง หรือคำอธิบายที่ว่า ชาวบ้านตกเป็นเหยื่อของเงินการเมือง ในเกมต่อรองอำนาจระหว่างคนชั้นสูง

เรื่องที่ผู้เขียนได้ยินจากการบอกเล่าของชาวบ้าน ถึงเหตุที่ทำให้พวกเขากระตือรือร้นที่จะยุ่งกับการเมือง ดูเหมือนจะชี้ไปที่สาเหตุอื่น นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์หมู่บ้าน ของผู้เขียน ที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมโดยตรงกับเหตุการณ์การเมืองระดับชาติ และพวกเขายอมรับมันด้วยดี ผู้เขียนคาดการณ์ว่า ความแข็งแกร่งของจิตสำนึกทางการเมือง ความห่วงใยต่อสิทธิเสรีภาพของตน และความกล้าที่จะแสดงออก จะไม่จางหายไปจากพวกเขา

การเลือกตั้งหมายถึงประชาธิปไตย ถ้าการเลือกตั้งถูกขัดจังหวะ นี่แสดงว่ามีอะไรผิดปกติ พวกเขาจะเรียกร้องคำอธิบายและกล้าที่จะตอบโต้กลับ

การเดินทางจาก “เขตพื้นที่แดง” สู่ “เสื้อแดง”

ความพยายามของผู้เขียนที่จะอธิบายถึงความเชื่อมโยง ระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกับการผันแปรของเศรษฐกิจหมู่บ้าน และวิกฤติการณ์ทางการเมืองระดับชาติ มีเหตุผลจากแนวคิดความเข้าใจหมู่บ้านของผู้เขียน

ผลงานทางวิชาการล่าสุดของแอนดรูว์ วอล์คเกอร์ ที่วิจารณ์งานวิชาการทางเศรษฐกิจการเมืองของหมู่บ้าน ที่เสนอแนวคิดที่มองชนบท เป็น “ชุมชน” และ “หมู่บ้าน” นั้นสะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์โรแมนติคของอดีต หรือไม่ก็ ไม่มีความรู้ซึ้งถึงการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของความจริงในปัจจุบัน

ในบทนำของ Tai Lands and Thailand: Community and State in Southest Asia วอล์คเกอร์โต้ ความเชื่อที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางที่ว่า ชุมชนดั้งเดิม “ถูกทำลายจากพลังสมัยใหม่ของรัฐที่จัดการบริหารใหม่ จากระบบตลาด จากโลกาภิวัฒน์ และจากการย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยของประชากรตลอดเวลา”

สิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากการเยี่ยมบ้านระยะสั้น ๆของผู้เขียน ดูเหมือนว่าจะเห็นพ้องกับข้อสังเกตของเขาที่ว่า “ปรากฏการณ์ ปรากฏการณ์ ของชุมชนที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน เป็นปรากฏการณ์ที่ใหม่ทันสมัย เป็นผลพวงจากการเจรจาต่อรองแลกเปลี่ยนของรัฐกับระบบการตลาด” มัน จะเป็นข้อผิดพลาดอย่างมหันต์ ที่จะดูหมู่บ้านของผู้เขียนเป็นแค่หน่วยหนึ่งของเศรษฐกิจแบบพอเพียงที่มี คุณธรรม ฝังอยู่ในวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจการเมืองแบบดั้งเดิม

ถึงแม้ว่าปู่ย่าตายายของผู้เขียน จะยังคงทำบุญทำทานตักบาตรตามวัดในหมู่บ้าน และความสัมพันธ์ทางเคลือญาติ ความกตัญญูยังแรงในระหว่างความสัมพันธ์ทางสังคม แต่สังคมและชีวิตทางเศรษฐกิจของหมู่บ้านของผู้เขียน ได้ดำเนินไปในจังหวะ ทิศทางและความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป

โลกของหมู่บ้านมีความซับซ้อนและทันสมัย นักมานุษวิทยา อีริค ทอมป์สัน เสนอว่า วิถีชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมของคนเมืองหลวง เจริญขึ้นในหมู่บ้านมาเลเซีย ชีวิตหมู่บ้านมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางด้านความสัมพันธ์ทางสังคม ความคิดการเมือง (ดู Unsetting Absenses: Urbanism in Rural Malaysia). ชนบทไทยมีความเหมือนชนบททั่วไปในประเทศมาเลเซีย และที่อื่นๆ ในชนบทในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
ดร.พัฒนา (ซ้าย) กับ อาจารย์บิฟ คายส์ (Prof. Charles Keyes, University of Washington ดร.พัฒนาเพิ่งเสียชีวิตเมื่อเวลา 03.56 น.วันที่ 10 มกราคม ที่โรงพยาบาลNUHประเทศสิงคโปร์ ตั้งสวดอภิธรรมที่วัดอนันตเมธารม บูกิตเมรา เป็นเเวลา สามวัน เริ่มวันนี้เวลา19.30น. และมีพิธีฌาปณกิจในวันที่ 13 มกราคม ที่ Mandai Crematorium and Columbarium Complex, 300 Mandai Road.
หมู่บ้านของผู้เขียน เชื่อมโยงกับเมืองหลวง และทั่วโลก ผ่านเครือข่ายของการคมนาคมสื่อสารของโทรทัศน์ดาวเทียม โทรศัพท์ และสื่ออื่นๆ การไหลเวียนของคนและสินค้า ที่เข้าออกหมู่บ้านมีจำนวนสูงมากขึ้น สภาพเช่นนี้ ทำให้ความคิดทั่วไปที่ว่า ชาวบ้านโง่ ไร้เดียงสา ตกเป็นเหยื่อของเงินการเมือง ยากที่จะเป็นไปได้

คนในหมู่บ้านของผู้เขียน ปรับตัวตามโลกยุคโลกาภิวัฒน์ถ้าจะใช้คำของ ซินดี แคชย์ และศาสตราจารย์คายส์ที่ เสนอว่า ชาวบ้านที่สนับสนุนทักษิณ และเข้าร่วมกับขบวนการคนเสื้อแดง ได้กลายเป็นชาวบ้านที่ไม่ต่างจากพลเมืองของโลกทั่วไป

คายส์ยังเสนอต่อไปว่า “คนอีสานมีความทันสมัย เพราะสัมพันธ์กับแรงงานตลาดโลก ที่มีความซับซ้อน และเข้าใจสังคมของคนกรุงเทพดี แต่ก็ยังรักษาความไม่พอใจ จาการดูแคลนของคนกรุง”

คายส์สืบประวัติกว่าครึ่งศตวรรษที่ชาวบ้านอีสาน เปลี่ยนเป็นความทันสมัย โดยสำรวจผลกระทบการพัฒนาของเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป สำรวจการศึกษาภาคบังคับ และการย้ายเปลี่ยนงาน

ผู้เขียนเคยเสนอว่า น่าจะใช้คำว่า “หมู่บ้านที่มีสัมพันธ์ข้ามชาติ” มาเป็นแนวคิด อธิบายถึงชุมชนแรงงานข้ามชาติไทย ที่ทำมาหากินที่สิงคโปร์ ส่วนใหญ่เป็นชาวชนบทภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือของไทย (ดูบทความของผู้เขียน “Village Transnationalism: Transborder Identities among Thai-Isan Migrant Workers in Singapore”

ผู้เขียนยังเสนอต่อว่า ประสบการณ์ชีวิตประจำวันของผู้ใช้แรงงานข้ามชาติไทยในสิงคโปร์ ได้รับอิทธิพลจากรูปแบบวัฒนธรรมที่เขาได้รับในชนบทไทย แรงงานข้ามชาติไทยนี้ใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่มี เรียนรู้ ปรับตัว ให้เข้ากับงานและประสบการณ์ชีวิตใหม่ที่เป็นคนงานข้ามชาติ หญิง ชาย ไทย พลัดถิ่นเหล่านี้อยู่รอดได้ และได้กลายเป็นแกนหลักของการเมืองและเศรษฐกิจไทย

คนในหมู่บ้านของผู้เขียน ถูกป้ายสีว่า “เป็นแดง” เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ในช่วงทศวรรษ คศ. 1960s และ 1970s จากนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ของรัฐไทยและสงครามเย็น ในยุค ศศ. 2000 และในยุค 2010 การแตกแยกทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านผู้เขียน สนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง

มีสองประเด็นที่สามารถสรุปได้จากการถูกป้ายสีว่า “แดง”

หนึ่ง แดงสองเฉดนี้ ถูกป้ายจากคนข้างนอก จากรัฐและชนชั้นนำในกรุงเทพฯ และสื่อ

สอง ตลอดประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านของผู้เขียน ยังคงถูกดูถูกดูแคลน

ความแตกต่างระหว่างชีวิตของคนส่วนกลาง และปริมณฑล ดูเหมือนจะถ่างกว้างขึ้นทุกปี แม้ความเป็นเมือง และโลกของโลกาภิวัฒน์ จะมีมากขึ้นในชนบท ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเมืองกับชนบท แสดงถึงความล้มเหลวของการพัฒนาเศรษฐกิจไทย การกระจายรายได้ที่แย่ และไม่เท่าเทียมทางสังคมเห็นได้ชัด

จากการสำรวจรายได้เมื่อเร็วๆ นี้ ระหว่างพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นคนกรุง กับคนเสื้อแดง นปช. ซึ่งเป็นคนชนบท โดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยืนยันถึงความแตกต่างทางเศรษฐกิจ สังคมของคนสองกลุ่มนี้ จากการสำรวจพบว่า “สมาชิกของกลุ่มพันธมิตรฯ มีเงินเดือนรายได้เฉลี่ย 30,000 บาทต่อเดือน ขณะที่คนเสื้อแดง มีรายได้แค่ 17,000 บาทต่อเดือน หรือ 35% ของรายได้ของพันธมิตร ขณะที่ 53% ของคนเสื้อแดง เป็นเกตรกร หรือคนรับจ้าง (ดูงานของ ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเกอร์ “Sacrifice in Bangkok”)

คำถามที่ตามมาคือ คนในชนบทไทย โดยเฉพาะคนที่เห็นด้วยกับคนเสื้อแดง ที่ไม่มีพลังต่อรองอะไร จะมีความสามารถเขยิบฐานะ เท่าเทียมกับคนที่อยู่ส่วนกลาง เต็มไปด้วยอำนาจและสิทธิพิเศษได้อย่างไร

ด้วยเหตุนี้ คนในหมู่บ้านในชนบท และผู้ที่ไม่ค่อยมีสิทธิ์ จึงมีแนวโน้มที่จะฝากความหวังของพวกเขาที่การเมืองการเลือกตั้ง และการเคลื่อนไหวทางการเมืองรูปแบบต่างอย่างแอคทีพ

สรุป

หลังจาการปราบปรามประชาชนเมื่อ ๑๙ พค. ๒๕๕๓ ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเกอร์ เสนอว่า “ประเทศไทยต้องพัฒนาการเมืองไทย ให้สอดคล้องกับภาวะการการพัฒนาของเศรษฐกิจประเทศ” ประชาธิปไตยของไทย มีปัญหา ส่วนต่างๆ ของการเมือง มีความขัดแย้งแบ่งขั้วกัน ความแตกแยกทางการเมืองได้ทำลายตนเอง และขัดขวางความก้าวหน้าด้านต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ และการศึกษา คนเสื้อแดงต่อว่า ชนชั้นปกครองและผู้มีอำนาจ ว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความไม่เท่าเทียมกันทางการเมือง ความไม่เป็นธรรม และระบบสองมาตรฐาน ส่วนฝ่ายเสื้อเหลือง โทษทักษิณและเครือข่ายของเขา โดยเน้นการต่อสู้เพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อความสามัคคีของชาติ ความประนีประนอมของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคณะรัฐมนตรี จะต้องเผชิญกับปัญหาที่ยากลำบากมาก

ดังที่บทความได้เสนอความเห็นไปแล้วว่า ความพยายามที่จะ “พัฒนาการเมืองไทย ให้สอดคล้องกับภาวะการการพัฒนาของเศรษฐกิจ” ในประเทศไทย ต้องเริ่มที่การเข้าใจประชาชน และหน่วยงานของประชาชนที่ติดดิน องค์การของคนชนบท มีเพิ่มมากขึ้น และจำนวนผู้ใช้แรงงานในเมืองก็เพิ่มมากขึ้น เขาทั้งหลายจะเป็นพลังของกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยไทย คนเหล่านี้เป็นอนาคตของประชาธิปไตยของประเทศ

ถึงแม้ว่าหมู่บ้านของผู้เขียนจะอยู่ชายแดนของประเทศ แต่ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ได้ถูกป้ายสีจากแดงเฉดหนึ่ง เป็นแดงอีกเฉดหนึ่ง คนในหมู่บ้านของผู้เขียน ได้พัฒาตัวเองทางการเมือง และปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ทางเศรษฐกิจของหมู่บ้านที่เปลี่ยนแปลงไปมาก

ในระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้เขียนขอเสนอว่า จากการที่ชาวบ้านได้เรียนรู้และมีส่วนร่วมเคลื่อนไหวในขบวนการของคนเสื้อแดง ในระยะเวลาสั้น ๆ และจากการที่มีส่วนร่วมทางการเมืองการเลือกตั้งระดับต่างๆเป็นปีๆ สามารถกล่าวได้ว่า ประชาธิปไตยของประเทศไทย และการสร้างชาติ ได้มาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ

การผูกขาดอำนาจจากชนชั้นนำในกรุงเทพฯ ต้องมีการแก้ไข พวกเขากล้าวิพากษ์วิจารณ์ ความไม่เท่าเทียมกันของเศรษฐกิจและการเมือง และเรียกร้องระบบการเมืองที่เปิดกว้าง “โปร่งใส หลายคนได้เรียกร้อง การมีส่วนร่วมในการพัฒนาประชาธิปไตย

ชาวบ้านในชนบทปัจจุบัน มีความแตกต่างมากกับคนชนบทรุ่นก่อน พวกเขามีความรู้ทางด้านการเมือง และปรับตัวเร็วมาก ซึ่งลักษณะนี้ เกิดจากการมีส่วนร่วมในการพัฒนาในยุคสมัยของโลกาภิวัฒน์ ทั้งในระดับชาติ และระดับข้ามชาติ

จากการศึกษาชาวบ้านในหมู่บ้าน และคนงานที่ทำงานในสิงคโปร์ ในปี คศ. 2004 ผู้เขียนขอเสนอว่า ชาวบ้านมีคุณลักษณะใหม่ ที่กล้ามากขึ้นในการเข้าร่วมประท้วงในช่วงวิกฤติทางการเมืองไทย ครั้งล่าสุดเพราะ

หนึ่ง ชาวบ้านรุ่นปัจจุบัน ไม่อยู่กับที่ มีการเคลื่อนย้ายที่ทำมาหากินตลอดเวลา ซึ่งการเคลื่อนไหวของสังคม และเศรษฐกิจ ได้กลายเป็ยจุดเด่นของวิถีชีวิตของหมู่บ้านตามภาคต่างๆ

สอง ชาวบ้านรุ่นปัจจุบัน เป็นกรรมกรขายแรงงานรับจ้าง ชาวบ้านได้เปลี่ยนผ่านจากชาวนา ทำงานเกษตร หลายสิบปีที่ผ่านมา เงินเดือนรายได้จากการรับจ้าง เป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญในหมู่บ้าน

สาม ชาวบ้านรุ่นนี้ เป็นผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการไม่แตกต่างจากผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการอื่นๆ ในเมือง ความภักดีต่อทักษิณ และเครือข่ายทางการเมืองของเขามีสูง

ความภักดีนี้ ไม่ใช่ความจงรักภักดี ที่มีคุณลักษณะความสัมพันธ์แบบระบบอุปถัมภ์ เหมือนกับผู้มีพระคุณในสมัยโบราณ ความสัมพันธ์ใหม่นี้ มีคุณลักษณะแบบ ผู้ให้บริการ กับ ผู้ใช้บริการ ตามท้องตลาดทางการเมือง เขาเข้าใจสิทธิของตนในฐานะพลเมืองของประเทศ ไม่นอนหลับทับสิทธิ์ เหมือนกับคนชั้นกลางและคนสั้นสูงในเมือง

การเลือกตั้งจึงเป็นของจริงสำหรับเขา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น