แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2556

รายงาน: มิตรภาพของนักโทษแดง-เหลือง อัพเดทสถานการณ์นักโทษการเมือง

ที่มา ประชาไท




หลายปีที่ผ่านมา ความรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เกิดความสูญเสียขึ้นมากมาย ทั้งผู้บาดเจ็ด ผู้เสียชีวิต โดยเฉพาะเมื่อปี 2553
หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า แอคทีฟซิทิเซ่นที่ร่วมชุมนุมในครั้งนั้นได้กลายสภาพเป็น “ผู้ต้องหา/นักโทษ ในคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง” จำนวนมาก ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำหลายจังหวัด
“คอป.เสนอว่าบุคคลเหล่านี้ควรจะเอามาไว้ในที่อื่นที่มิใช่เรือนจำปกติ เพราะผู้ต้องขังในราชทัณฑ์เรามันล้น...เราต้องการปรองดองใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นคุณก็เอาพวกนี้ไปไว้ที่อื่นซึ่งก็คุกเหมือนกัน อาจจะลดความแออัดลงมาหน่อย แต่คนที่สูญเสียเสรีภาพ มันไม่สบายดี ไม่สนุกหรอก” คณิต ณ นคร ให้สัมภาษณ์มติชนออนไลน์ ถึงเหตุผลข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.)
ต่อมารัฐบาลได้มีการจัดให้ผู้ต้องขังคดีทางการเมืองนี้ย้ายมาคุมขังรวม กันที่ “เรือนจำหลักสี่” ภายในสโมสรตำรวจ โดยอ้างถึงคำแนะนำของ คอป.อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ต้องขังที่คดีเด็ดขาดอีกราว 5-6 คน ที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไม่ได้ย้ายมาด้วย
ขณะที่ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112 อีก 7 คนในจำนวนนี้เป็นหญิง 1 คนกลับไม่ถูกนิยามว่าเป็น “นักโทษ(อันมีแรงจูงใจมาจาก)การเมือง” แม้ คอป.จะนับรวมและเขียนในรายงานอย่างชัดเจนอย่างยิ่ง แต่รัฐบาลยังคงไม่กล้าตอบรับต่อนิยามนั้นท่ามกลางกระแส ‘ล้มเจ้า’ ที่จุดติดและยังมีผลสืบเนื่องในทางการเมืองอีกยาวนาน
ปัจจุบัน ผู้ต้องขังคดีเกี่ยวพันการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำหลักสี่นั้นมี อยู่ 22 คนในจำนวนนี้เป็นหญิง 1 คน รายละเอียดข้อมูลคดีของนักโทษการเมือง สามารถดูได้จากตารางด้านล่าง 
(วันชัย รักสงวนศิลป์ หนึ่งในผู้ต้องขังคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุดรธานี เสียชีวิตภายในเรือนจำหลักสี่อย่างกระทันหันเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.55 , ฉัตรชัย หมายเหลือง ผู้ต้องขังใหม่จากคดีบุกกระทรวงมหาดไทยปี 2552 ถูกย้ายจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาที่เรือนจำหลักสี่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา)
ไม่ว่าจะเรียกพวกเขาว่า “นักโทษการเมือง” หรือจะเรียกขานอย่างไร เรื่องนี้ก็กลายมาเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมการเมืองไทย กระทั่งมีความพยายามของนักวิชาการอย่างกลุ่มนิติราษฎร์ ผลักดันเรื่องพ.ร.บ.นิรโทษกรรม สำหรับประชาชนตัวเล็กที่เข้ามาเกี่ยวพันกับการชุมนุมและถูกดำเนินคดีด้วย (อ่านแนวทางของนิติราษฎร์ได้ที่  นิติราษฎร์: คำอธิบายเรื่องร่าง รธน.ว่าด้วยนิรโทษกรรมและขจัดความขัดแย้ง)
เพื่อให้เห็นภาพใหญ่ของปัญหา เราอาจต้องย้อนไปดูข้อมูลตั้งแต่แรกเริ่ม
ศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 หรือ ศปช. ซึ่งก่อตั้งโดยนักวิชาการ นักกิจกรรม อาสาสมัคร ได้ลงพื้นที่สำรวจและบันทึกเรื่องเกี่ยวกับนักโทษการเมืองไว้ในรายงาน ‘ความจริงเพื่อความยุติธรรม: เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53’ ว่า
“มีผู้ถูกจับกุมจากเหตุการณ์สืบเนื่องกับการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,857 คน ในจำนวนนี้ต่อมาถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 1,763 คน ในศาล 59 แห่ง” หน้า 448
ส่วนผู้ที่ถูกดำเนินคดีและไม่ได้รับการประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราวใน ระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นมีอย่างน้อย 105 คน และมีหลายรายที่ในท้ายที่สุดแล้วศาลยกฟ้อง
หรือกระทั่งกรณีที่ศาลอุทธรณ์สั่งยกคำพิพากษาโดยให้ย้อนสำนวนไปให้ศาล ชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่ให้ถูกต้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.173 วรรค 2 ก็ยังมี
“จากข้อมูลทำให้เห็นได้ว่า กระบวนการจับกุมของเจ้าหน้าที่ภายใต้อำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงนั้นมีปัญหา ทั้งการจับกุมในวันที่สลายการชุมนุม การออกหมายจับและการติดตามจับกุมตามหมายจับ หลายกรณีการตั้งข้อหากระทำโดยไม่มีหลักฐานชัดเจน เมื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง” หน้า 457
“แม้แต่ในกลุ่มคนที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณานั้น มีจำนวนมากที่ถูกคุมขังอยู่นานกว่า 6 เดือน และอีกจำนวนหนึ่งถูกคุมขังอยู่กว่า 1 ปีก่อนที่ศาลจะปล่อยชั่วคราว อันเป็นผลมาจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่นานหลายเดือนหลังสลายชุมนุม และบรรยากาศทางการเมืองที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรง” หน้า 453
ยังไม่รับรวมกรณีตัวอย่างที่ ศปช. มีการศึกษาและสัมภาษณ์โดยละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการจับกุมซึ่งมีการซ้อมและ ข่มขู่ผู้ต้องหาอย่างชัดเจนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ (หน้า 464)
“คอป.พบว่ากระบวนการสอบสวนในคดีที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางการ เมืองในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2553 มีการแทรกแซง และการแสวงหาพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ในบางกรณียังไม่สมบูรณ์และไม่ สามารถอำนวยความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย ทำให้สาธารณชนเกิดความเคลือบแคลงต่อกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น คอป.เห็นว่ารัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชนว่า หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ ไม่ถูกแทรกแซง ทุกหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมถึงวางตนเป็นกลางและเป็นอิสระจากอิทธิพลทาง การเมืองโดยไม่เข้าข้างฝ่ายใด” ข้อเสนอแนะหนึ่งในรายงานฉบับสมบูรณ์ของ คอป.
สถิติคดีและปัญหาในกระบวนการต่างๆ ประกอบกับความไม่คืบหน้าในคดีของกลุ่มการเมืองอีกฝ่าย ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ความเป็น 2 มาตรฐานของสังคมไทย ประชาชนของทั้งสองขั้วการเมืองต่างก็โกรธแค้นและชิงชังซึ่งกันและกันมากขึ้น เรื่อยๆ และดูจะหาทางลงได้ยาก
ท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิดและสภาพเช่นว่านั้น กลับมีภาพของ “ความเห็นอกเห็นใจ” “ความพยายามทำความเข้าใจ” ซึ่งกันและกัน ผ่านซี่ลูกกรงเล็ดรอดออกมา เป็นภาพที่สวนทางกับสภาพการณ์ภายนอกอย่างแทบจะสิ้นเชิง
14 มกราคม 2555 อานนท์ นำภา ทนายความของผู้ต้องขังเสื้อแดงและผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯหลายคนได้โพสต์ภาพ จดหมายจากลูกความของเขาที่อยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราว ชะตากรรมของ ผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ คนหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักจากสังคมวงกว้างเนื่องจากภาพที่เขาขับรถกระบะคัน ใหญ่ชนตำรวจถูกนำเผยแพร่ในสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวางเมื่อปี 2551 – ‘ปรีชา ตรีจรูญ’
เมื่อศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกเขา 3 ปี แต่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2553 ท่ามกลางนักโทษการเมืองเสื้อแดงเต็มคุก เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ดังขรมขึ้นทั่วทุกมุมเมือง
“พิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (2), 80, 72 ลงโทษ จำคุก 3 ปี พิเคราะห์แล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับจำเลยประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งมั่นคง เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามมาตรา 56 ให้คุมประพฤติจำเลย โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี รายงานตัวครั้งแรกนับแต่วันมีคำพิพากษา กับให้จำเลยกระทำกิจการบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร เป็นเวลา 48 ชั่วโมง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก” คำพิพากษาของศาลชั้นต้น
หลังจากนั้นเรื่องราวของเขาก็เงียบหายไป ไม่น่าเชื่อว่าวันนี้เราจะได้ยินเรื่องของเขาอีกครั้งจากนักโทษการเมืองซึ่ง เป็นฝ่ายตรงข้ามกับเขา จากมุมมองที่ต่างออกไป ผ่านจดหมายของผู้ต้องขังเสื้อแดง 2 คนที่ถูกคุมขังอยู่ที่เดียวกัน คือ ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล และ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ซึ่งทั้งสองระบุว่า เมื่อ 11 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกปรีชา 33 ปี 12 เดือน ในความผิด 2 ข้อหาเกี่ยวกับการพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน
ปรีชาถูกคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อยู่ไม่กี่วันก่อนจะถูกย้ายไปคุมขังที่เรือนจำคลองเปรม ซึ่งบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ญาติและทนายไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ และเรายังไม่รู้ว่าเขาจะสามารถประกันตัวได้แล้วหรือไม่
สุรชัยเล่าเรื่องราวของปรีชาไว้ว่า
"มีกรณีที่เป็นข่าวโด่งดังในครั้งนั้นคือ มีหนุ่มใหญ่คนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรฯ โหดเหี้ยมบ้าเลือด ขับรถพุ่งชนพยายามฝ่าตำรวจ ครั้นไม่ตายก็ถอยหลังมาทับซ้ำเพื่อฆ่าให้ตาย มีภาพเหตุการณ์ถ่ายทอดเป็นข่าวทางทีวี และภาพข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ทำให้ผู้ที่ดูข่าวหรืออ่านข่าวต้องรู้สึกชิง ชัง แค้นเคืองหนุ่มใหญ่ที่โหดเหี้ยมผู้นี้"
“นายปรีชาเป็นพันธมิตรฯ เสื้อเหลืองเพียงคนเดียวที่หลงเข้าเรือนจำในขณะที่คนเสื้อแดงถูกขังอยู่เต็ม คุก และยึดพื้นที่สร้างเป็นฐานที่มั่นอยู่ก่อนแล้ว จึงมีการกริ่งเกรงว่า จะมีรายการต้อนรับน้องใหม่จนสะบักสะบอมแน่
แต่ปรากฏว่า นอกจากจะไม่มีรายการเช่นนั้นเกิดขึ้นแล้ว พันธมิตรฯ เสื้อเหลืองท่านนี้กลับได้รับการดูแลอย่างดีจากกลุ่มคนเสื้อแดงเจ้าถิ่น จนเจ้าหน้าที่โล่งใจ สภาผู้แทนคนเสื้อแดงในเรือนจำฯ ลงมติว่า พวกเราต้องมีใจบริสุทธิ์ ไม่ใช้ความรู้สึกที่โกรธแค้นชิงชังผู้ที่มีความคิดแตกต่างจากเรา และเราควรจะเห็นอกเห็นใจเขาที่ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับเรา เพราะต่างเป็นหญ้าแพรกทั้งคู่ เป็นเหยื่อของสถานการณ์ความขัดแย้งที่เราไม่ได้เป็นผู้ก่อ
พวกเราสภาผู้แทนคนเสื้อแดงในเรือนจำฯ จึงได้ให้การดูแล อำนวยความสะดวกเรื่องข้าวเรื่องน้ำกาแฟในตอนเช้า และไม่ยอมให้ใครมาข่มเหงรังแก ดูถูกเหยียดหยาม สอบถามเรื่องราวและให้กำลังใจตลอด จึงได้ทราบความจริงที่ผิดไปจากข่าวว่า แท้ที่จริงที่เขาขับรถชนตำรวจนั้น ไม่ใช่เพราะจิตใจที่โหดร้ายทารุณ เจตนาฆ่าตำรวจ แต่เป็นเพราะเขาบาดเจ็บตกใจจะขับรถหนีจากที่เกิดเหตุแต่เลือดเข้าตา มองไม่เห็นจึงชนตำรวจที่อยู่ข้างหน้า และพอรถติดฟุตบาทก็ถอยเพื่อเดินหน้าใหม่ก็ชนตำรวจข้างทางด้านหลังอีก จนถูกตั้งข้อหา 2 คดี”
สุรชัยทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “ปรีชา อาชีพช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม และจบ มสธ.เกษตรศาสตร์ ผ่านการต่อสู้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 มาด้วย ไม่มีลักษณะของความเป็นคนคลั่งแต่อย่างใด ก็อยากเห็นศาลฎีกาพิพากษาตามศาลชั้นต้น อย่าเอาคนทำผิดเพราะตกใจมาติดคุกเลย และวันนี้ 14 ธันวาคม 2555 เขาก็ถูกย้ายไปเรือนจำกลางคลองเปรมจากพวกเราไปด้วยความประทับใจยิ่ง”
ในขณะที่ธันย์ฐวุฒิเล่าให้ทนายของเขาฟังว่า
“ความจริงแล้ว ด้วยความยาวนานที่พวกเราอยู่กันมาในนี้ มันสามารถจะทำอะไรก็ได้ สั่งให้ใครทำอะไรก็ได้ แต่พวกเราเลือกที่จะเห็นใจกัน แม้จะเป็นฝ่ายตรงข้ามก็ตาม ผมนึกถึงสภาพเหตุการณ์ตอนที่ผมโดนรุมกระทืบในนี้แล้ว ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นกับใครอีก โดยเฉพาะคนที่ถูกคดีทางการเมืองอย่างพวกเรา
“พี่ปรีชาเป็นคนตัวเล็กๆ ผอมๆ รูปร่างเล็กกว่าผมอีก อายุ 50 กว่าๆ ผมสีเทา คือขาวเกือบครึ่ง ในสายตาผม เขาดูเหมือนผู้หญิงด้วยซ้ำ เราแทบไม่เชื่อเลยว่าจะเป็นคนๆ นี้ เช้าวันแรกที่เขาเข้ามา เขาดูกลัวมากๆ ต้นวรกฤต กลุ่มเชียงใหม่ 51 เป็นคนแนะนำให้เรารู้จัก ซึ่งผมก็บอกกับเขาตรงๆ ว่าเราเป็นเสื้อแดง เขาก็มือไหว้เราด้วยความเกรงๆ ผมพาเขาไปพบ อ.สุรชัย ซึ่งก็ให้ความอุ่นใจกับเขาได้เยอะ เราแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน สุขทุกข์กัน ในช่วงเวลา 3-4 วัน ก่อนที่เขาจะย้ายไปคลองเปรม จนทำให้รู้ว่า เขากับเราต่างก็เป็นเหยื่อทางการเมืองเหมือนกัน”
ธันย์ฐวุฒิตั้งคำถามถึงคนส่วนหนึ่งที่เมื่อทราบข่าวก็โกรธแค้นผู้ชุมนุม พันธมิตรฯ ผู้นี้และแสดงอาการสมน้ำหน้า “มันเกิดอะไรขึ้นกับคนไทยกันนะ เราแตกแยกกัน ใช้อารมณ์กันโดยไม่คำนึงถึงเหตุผลกันแล้วอย่างนั้นหรือ แดงเกลียดเหลือง เหลืองโกรธแค้นแดง อย่างไม่มีการให้อภัยกัน จนลืมไปแล้วว่าเราเป็นคนไทยเหมือนกัน เหมือนเป็นพี่น้องกัน ถอยออกมาคนละก้าวให้โอกาสกันดีกว่าไหม”
“ผมนึกถึงเพื่อนๆ ผมอีกหลายๆ คนที่เกี่ยวข้องกับคดี 112 โดยเฉพาะป้าอุ๊ หมี (สุริยันต์) และณัฐ ที่ทุกวันนี้ พวกเขาก็ยังใช้ชีวิตอย่างไม่ปกติ แม้เรื่องมันจะจบหรือเขาพ้นโทษกันไปแล้ว ป้าอุ๊กับหลานๆ ยังมีคนคอยจ้องมองอยู่ จับผิดอยู่ เหมือนไม่ยอมให้จบ ทั้งๆ ที่ครอบครัวนี้สูญเสียอากงที่เกี่ยวข้องกับคดีไปกว่าปีแล้ว แต่คนที่คิดต่างเขาไม่จบ จนวันนี้ป้าอุ๊และครอบครัวกำลังคิดจะย้ายไปอยู่กับญาติที่พอจะให้ความอุ่นใจ และความปลอดภัยกับเขาและหลานๆ ได้ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะจบปัญหาได้จริงๆ หรือเปล่า หมีเองทุกวันนี้ก็ยังกลับไปทำงานเย็บรองเท้าไม่ได้ เพราะยังกังวลเรื่องความปลอดภัยของเขาอยู่ จนผมเริ่มกังวลแล้วว่า ผมกับลูกจะอยู่กันยังไง ถ้าสักวันผมได้รับอิสระและออกไปใช้ชีวิตข้างนอก ผมจะได้อยู่อย่างปกติเหมือนเดิมหรือเปล่า
เราทั้งสองฝ่ายมาไกลกันเกินไปแล้วจริงๆ หรือ มันกลับไปเหมือนก่อนไม่ได้แล้วจริงๆ หรือ เห็นพล.อ.เปรมให้สัมภาษณ์ก่อนปีใหม่ มีบางตอนที่ว่า “คนเรามีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ แต่ถ้าแตกต่างกันอย่างฉันมิตร ประเทศชาติก็ไม่เสียหาย” ซึ่งผมเห็นด้วยมากๆ และถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากให้พวกเราทุกคนคิดหาทางออกให้ประเทศเรา ด้วยการคิดให้โอกาสกัน ให้อภัยกัน แม้ฟังดูแล้วจะเหมือนดัดจริตก็ตาม แต่ผมเชื่อว่านี่เป็นทางเดียวที่จะทำให้ประเทศนี้เป็นคนในประเทศนี้อยู่กัน อย่างสงบสุขต่อไปได้” ธันย์ฐวุฒิระบุ

ลำดับ
ชื่อ-นามสกุล
วันที่ถูกจับกุม
ข้อหา
เลขคดีดำ
สถานะทางคดี
อัตราโทษ
1
นายสายชล แพรบัว   
10 มิ.ย. 53
ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์(CTW)อันเป็นที่เก็บสินค้า/จนเป็นเหตุให้คนตาย, พรก.
2478/53
ชั้นต้น

2
นายพินิจ จันทร์ณรงค์
19 พ.ค. 53
2478/53
ชั้นต้น

3
นายเพชร แสงมณีหรือเฮ่น มณีเพชร
21 พ.ค. 53
มั่วสุมตั้งแต่10 คนขึ้นไป,วางเพลิงเผาทรัพย์(ธ.กรุงเทพฯสาขาพระโขนง),พรบ.คนเข้าเมือง, พรก.
2219/53
อัยการอุทธรณ์
6 ปี 6 ด.
4
นายคำหล้า ชมชื่น
29 พ.ค. 53
ร่วมกันปล้นทรัพย์ของกรมทหารราบที่ 1 รอ.
2440/53
อุทธรณ์
10 ปี
5
นายประสงค์ มณีอินทร์
17-พ.ค-.53
พรบ.อาวุธปืนฯ, พรบ.วิทยุคมนาคม, พรก., ลักทรัพย์, พาอาวุธไปในเมือง
2274/53
อุทธรณ์
11 ปี 8 ด.
6
นายโกวิทย์ แย้มประเสริฐ
17.พ.ค.53
2274/53
อุทธรณ์
11 ปี 8 ด.
7
สต.บัณฑิต สิทธิทุม
30 เม.ย.53
ก่อการร้าย,มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน,พาอาวุธไปในเมือง
2317/53
อุทธรณ์
38 ปี
8
จ.ส.ต.ปริญญา มณีโคตม์
29 เม.ย. 53
พรบ.อาวุธปืน,เครื่องกระสุนปืนฯ
3446/53, 3447/53
ชั้นต้น
 
9
นางสาวปัทมา มูลมิล
24 พ.ค. 53
พรก.,ก่อความวุ่นวาย,ร่วมกันบุกรุก,วางเพลิงเผาศาลากลาง,ทำให้เสียทรัพย์
1496/2553
อุทธรณ์
33 ปี 12 ด.
10
นายธีรวัฒน์ สัจสุวรรณ
27 พ.ค. 53
พรก.,ก่อความวุ่นวาย,ร่วมกันบุกรุก,วางเพลิงเผาศาลากลาง,ทำให้เสียทรัพย์
1496/2553
อุทธรณ์
33 ปี 12 ด.
11
นายสนอง เกตุสุวรรณ์
9 มิ.ย. 53
พรก.,ก่อความวุ่นวาย,ร่วมกันบุกรุก,วางเพลิงเผาศาลากลาง,ทำให้เสียทรัพย์
1496/2553
อุทธรณ์
33 ปี 12 ด.
12
นายสมศักดิ์ ประสานทรัพย์
9 ก.ค. 53
พรก.,ก่อความวุ่นวาย,ร่วมกันบุกรุก,วางเพลิงเผาศาลากลาง,ทำให้เสียทรัพย์
1496/2553
อุทธรณ์
33 ปี 12 ด.
13
นายอาทิตย์ ทองสาย
19 พ.ค.53
ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์,บุกรุกโดยมีอาวุธ,ทำให้เสียทรัพย์
1154/53, 1221/53
อุทธรณ์
22 ปี 6 ด.
14
นายกิตติพงษ์ ชัยกัง
16 มิ.ย.53
ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์,บุกรุกโดยมีอาวุธ,ทำให้เสียทรัพย์,พรก.
1154/53, 1221/53
อุทธรณ์
11 ปี 3 ด.
15
นายเดชา คมขำ
16 มิ.ย.53
ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์,บุกรุกโดยมีอาวุธ,พรก.
1221/53
อุทธรณ์
20 ปี 6 ด.
16
นายบัวเรียน แพงสา
16 มิ.ย.53
ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์,บุกรุกโดยมีอาวุธ,พรก.
1221/53
อุทธรณ์
20 ปี 6 ด.
17
นายเอกชัย มูลเกษ

พรบ.อาวุธปืนฯ
 1252/53
อุทธรณ์
 8 ปี
18
นายเอนก สิงขุนทด
(ตาบอด)

พรบ.อาวุธปืน, พาอาวุธไปในเมือง
 2930/53
อุทธรณ์
 35 ปี
19
นายชาตรี ศรีจินดา

กรรโชกทรัพย์

อุทธรณ์
  30 ปี
20
นายจีระวัฒน์ จันทร์เพ็ง

คดีวางระเบิด

อุทธรณ์
 9 ปี
21
นายสุรชัย เทวารัตน์

พรบ.อาวุธปืนฯ

ชั้นต้น

ข้อมูลจาก ศปช. (15 มกราคม 2555)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น