แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

การนิรโทษกรรมทางการเมืองในสังคมไทยตั้งแต่ 2475 ถึงปัจจุบัน

ที่มา ประชาไท


การนิรโทษกรรมทางการเมืองในสังคมไทยตั้งแต่ 2475 ถึงปัจจุบัน[1]

ขณะนี้มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาออกกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษ การเมือง จากบุคคลหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นจากนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ จากคนเสื้อแดง จากกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล และตัวผู้ต้องขังเอง แต่ดูเหมือน     รัฐบาลทำตัวเป็นเกษตรกรที่มักเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ราวกับว่า ”คำตอบ..อยู่ในสายลม”
กฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย หากนับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อปี 2475 ประเทศไทยมีกฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมืองมาแล้ว ดังนี้
1. การนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อการกบฏ/รัฐประหาร/ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร 11 ครั้ง เป็นกฎหมาย 13 ฉบับ รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ เป็นระราชกำหนด (พรก.) 2 ฉบับ พระราชบัญญัติ (พรบ.) 11 ฉบับ
1.1 พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พุทธศักราช 2488
1.2 พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พุทธศักราช 2488 พุทธศักราช 2488
1.3 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490(การรัฐประหารกระทำโดยพลโทผิน ชุณหะวัณและพวก)
1.4 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 (การปฏิวัติโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม)
1.5 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 (ฉบับที่ 2)(กำหนดเวลาสิ้นสุดการขอคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ยศหรือบรรดาศักดิ์เสียภาย ในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2502)
1.6 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อ วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 พ.ศ. 2500(การยึดอำนาจโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์)
1.7 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 พ.ศ. 2502 (การปฏิวัติโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์)
1.8 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 พ.ศ. 2515 (ปฏิวัติตัวเองโดย จอมพลถนอม กิตติขจร)
1.9 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พ.ศ. 2519 (คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่)
1.10 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ภายในราชอาณาจักร ระหว่าง วันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2520 (กรณีพล อ. ฉลาด)
      1.11 พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524 พ.ศ. 2524 (กบฏเมษา ฮาวาย โดยพล.อ.สัณฑ์ จิตรปฏิมา เสธฯสนั่นกับพวก จปร. 7)
1.12 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่าง วันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 พ.ศ. 2531 (ก่อการโดยพลตรีมนูญ รูปขจร และพวก)
1.13 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พ.ศ. 2534
ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 ณ วันที่ 1 มีนาคม พุทธศักราช 2534
มาตรา 32  บรรดาการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบ เรียบร้อยแห่งชาติ หรือของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่ได้ กระทำ ประกาศ หรือสั่งก่อนวันใช้ธรรมนูญการปกครองนี้ ทั้งนี้ ที่เกี่ยว เนื่องกับการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวัน ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ไม่ว่าจะกระทำด้วยประการใด หรือเป็นในรูป ใด และไม่ว่าจะกระทำ ประกาศ หรือสั่งให้มีผลใช้บังคับในทางนิติบัญญัติ ใน ทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้ถือว่าการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่ง รวมทั้ง การกระทำของผู้ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้นตลอดจนการกระทำของบุคคล ใดๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดหรือควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินดัง กล่าว เป็นการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
1.14 การนิรโทษกรรมโดยการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยพลเอกสนธิ บุณยรัตกลินและพวก
มาตรา 37  บรรดาการกระทำทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการ ปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 ของหัวหน้าและคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมตลอดทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวหรือของผู้ ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะปฏิรูป การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันได้กระทำไป เพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการรวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่าง อื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดย สิ้นเชิง[2]
2. การนิรโทษกรรมแก่การชุมนุมทางการเมือง/เหตุการณ์ทางการเมือง 3 ครั้ง เป็นพรบ. 3 ฉบับ
2.1 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 พ.ศ. 2516
2.2 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521
2.3 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็น คอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2532
3. การนิรโทษกรรมให้แก่การกระทำทางการเมือง 4 ครั้ง เป็นพรบ. 3 ฉบับ พรก. 1 ฉบับ
3.1 พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2475
3.2 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อให้มีการเปิด สภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2476 (ฝ่ายทหารจี้บังคับให้ครม.พลเรือนลาออกทั้งคณะ)
3.3 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น พุทธศักราช 2489 (นิรโทษกรรมให้กลุ่มที่ต่อต้านญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ สอง เช่น เสรีไทย)
3.4 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 กลับมาใช้ พ.ศ. 2494 (การรัฐประหารเงียบ โดยคณะทหาร คณะราษฎร และบุคคล โดยอ้างสถานการณ์ภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ และคอรัปชั้น และอ้างความมั่นคงแห่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ บรมราชจักรีวงศ์ และระบอบรัฐธรรมนูญ)
เหตุผลของการตรากฎหมายนิรโทษกรรม ทั้งในรูป พระราชกำหนด (พรก.)หรือพระราชบัญญัติ (พรบ.)
เมื่อ ได้ตรวจสอบเหตุผลของการออกกฎหมายนิรโทษกรรม จะพบว่าเมื่อมีการยึดอำนาจทางการเมืองโดยคณะทหารที่ก่อการกบฏแต่ไม่สำเร็จ การก่อการกบฏ หรือยึดอำนาจรัฐอันมิได้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยนั้น เป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา (ปัจจุบัน)หรือกฎหมายลักษณะอาญา ในยุคก่อนการใช้ประมวลกฎหมายอาญา (หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475- ก่อนพฤศจิกายน 2499) จะพบเหตุผลที่หลากหลาย แต่เหตุผลหนึ่งก็เพื่อ “สร้างสรรความสามัคคีของชนในชาติ” หรือ “รัฐบาลนี้มีความประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะให้เกิดความสามัคคีในระหว่างชนใน ชาติ” หรือ “ความสามัคคีของชนในชาติจึงเป็นสิ่งจำเป็นและรีบด่วนที่จะต้องสร้างสรรให้มี ขึ้นให้จงได้ การดำเนินการทางคดีต่อไปมีแต่จะก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนยิ่งขึ้น” ดังรายละเอียด
1. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2520[3]
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระชนมพรรษาเจริญวัฒนามา ครบ 50 พรรษาบริบูรณ์ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2520 ซึ่งนับเป็นอภิลักขิตสมัยที่สำคัญ และประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายและ เจตจำนงที่จะผนึกกำลังสร้างสรรความสามัคคีของชนในชาติ สมควรนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราช อาณาจักรและความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดดังกล่าว ซึ่งได้กระทำระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 เพื่อเป็นการแผ่พระมหากรุณาธิคุณและให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นได้ร่วมกันทำ คุณประโยชน์และช่วยจรรโลงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป  จึงจำเป็นต้อง ตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
2. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521[4]
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า การพิจารณาคดีเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น ได้ล่วงเลยมานานพอสมควรแล้วและมีท่าทีว่าจะยืดเยื้อต่อไปอีกนาน ถ้าจะดำเนินคดีต่อไปจนเสร็จสิ้นก็จะทำให้จำเลยต้องเสียอนาคตในทางการศึกษา และการประกอบอาชีพยิ่งขึ้น และเมื่อคำนึงถึงว่าการชุมนุมดังกล่าวก็ดี การกระทำอันเป็นความผิดทั้งหลายทั้งปวงก็ดี เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่เข้าใจในสถานการณ์ที่แท้จริงเพราะเหตุแห่งความ เยาว์วัยและการขาดประสบการณ์ของผู้กระทำความผิด ประกอบกับรัฐบาลนี้ มีความประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะให้เกิดความสามัคคีในระหว่างชนในชาติ จึงเป็นการสมควรให้อภัยการกระทำดังกล่าวนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิด ทั้งผู้ที่กำลังถูกดำเนินคดีอยู่และผู้ที่หลบหนีไปได้ประพฤติปฏิบัติตนในทาง ที่ถูกที่ควรและกลับมาร่วมกันทำคุณประโยชน์และช่วยกันจรรโลงประเทศชาติให้ เจริญรุ่งเรืองต่อไป  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
3. พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524 พ.ศ. 2524[5]
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ ตามที่ได้มีผู้ก่อความไม่สงบขึ้นเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินในระหว่างวัน ที่ 31 มีนาคม จนถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524 โดยใช้กำลังอาวุธเข้ายึดสถานที่ราชการสำคัญหลายแห่ง อันเป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรในการดำเนินการ ปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบดังกล่าว รัฐบาลได้ใช้ความระมัดระวังมิให้เกิดการต่อสู้กันขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรและ ทรัพย์สินของทางราชการและเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ประเทศชาติและราชบัลลังก์ได้ รัฐบาลจึงได้ประกาศให้ผู้ก่อความไม่สงบวางอาวุธและกลับคืนสู่หน่วยที่ตั้ง ตามปกติของตนภายในระยะเวลาที่กำหนด แล้วรัฐบาลจะไม่เอาความผิด ซึ่งปรากฏว่าผู้ก่อความไม่สงบได้เชื่อฟังและปฏิบัติตามประกาศของรัฐบาลด้วย ดี มิได้มีการต่อต้านหรือขัดขืนหรือใช้กำลังอาวุธให้ต้องเสียเลือดเนื้อแต่ ประการใด ทำให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อเหตุการณ์สงบลงแล้ว รัฐบาลได้ดำเนินการสอบสวนเพื่อทราบถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของผู้ที่เกี่ยว ข้องทุกฝ่าย โดยประกาศให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปรายงานตัวต่อกองอำนวยการร่วมรักษาความสงบ แห่งชาติภายในเวลาที่กำหนด เพื่อให้ชี้แจงถึงการกระทำของตน ในขณะเดียวกันเนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมาย การดำเนินการสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดจึง ต้องกระทำไปตามกระบวนการแห่งกฎหมายควบคู่ไปด้วย บัดนี้ จากผลแห่งการสอบสวนเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ผู้ก่อความไม่สงบส่วนใหญ่ได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐบาลโดยครบถ้วน เป็นการสมควรที่จะนิรโทษกรรมการกระทำของผู้ก่อความไม่สงบเหล่านั้นให้ตามที่ รัฐบาลได้ประกาศไว้ และเมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ในปัจจุบันของประเทศ ที่มีศัตรูของประเทศชาติและประชาชนอยู่รอบด้านทั้งภายนอกและภายในราช อาณาจักร ความสามัคคีของชนในชาติจึงเป็นสิ่งจำเป็นและรีบด่วนที่จะต้องสร้างสรรให้มี ขึ้นให้จงได้ การดำเนินการทางคดีต่อไปมีแต่จะก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนยิ่งขึ้น ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และจะทำให้กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศในที่สุด ฉะนั้น เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของประเทศและกรณีเป็นเรื่องฉุกเฉินที่ มีความจำเป็นรีบด่วนที่ไม่อาจปล่อยให้เนิ่นช้าได้  จึงจำเป็นต้องตราพระราช กำหนดนี้
สาระสำคัญของกฎหมายนิรโทษกรรม
เมื่อหันมาดูเนื้อหาของกฎหมายนิรโทษกรรม จะพบว่ามีสาระสำคัญอยู่ 2 ประการ กล่าวคือ
๑. นิรโทษกรรมการกระทำผิดทางอาญา เช่น
- ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา
- ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
- ความผิดฐานกบฏและจลาจล
ดังกรณีพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่น คงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็น คอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2532[6]
มาตรา 3  บรรดาการกระทำของบุคคลใด ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 หากการกระทำนั้นเป็นความผิดดังต่อไปนี้
(1) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา
(2) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
(3) ความผิดฐานอื่นที่เป็นกรรมเดียวกับความผิดตาม (1) หรือ (2)  ทั้งนี้ เฉพาะที่มิใช่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
ให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง
๒. นิรโทษกรรมเหตุการณ์ กรณี ความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เมื่อได้คำนึงถึงว่าการกระทำนั้นได้กระทำไปโดยปรารถนาจะให้มีรัฐธรรมนูญและ การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์เป็นประมุขให้รวดเร็วยิ่งขึ้น จึงสมควรให้มีนิรโทษกรรมแก่บรรดานักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว ซึ่งเหตุการณ์เดินขบวนนั้น
- ก่อให้เกิดความผิดต่อชีวิตและร่างกายของบุคคลและ
- ความเสียหายแก่ทรัพย์สินเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน
- ไม่ว่ากระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
ใครบ้างได้ประโยชน์จากพฎหมายนิรโทษกรรม
กฎหมายนิรโทษกรรมทุกฉบับ ให้ทุกคนที่กระทำผิดได้รับประโยชน์ เช่น ผู้ที่ได้กระทำความผิดฐานกบฏ
จลาจล และผู้ที่ได้กระทำความผิดอันเกี่ยวเนื่องจากการกระทำการป้องกัน ระงับหรือปราบปรามการกบฏหรือจลาจล (กรณีกบฏ 8 พฤศจิกายน 2499 กรณีการเดินขบวนของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ ซตุลาคม 2519 เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ หรือผู้กระทำตามคำสั่งในการปราบปรามนักศึกษา ประชาชนในเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ไม่มีความผิด ไม่ต้องรับโทษ
ผลของกฎหมายนิรโทษกรรม
- ให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิด เช่น บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นเหล่านั้นไม่ว่าของบุคคลใด ๆ ในคณะราษฎรนี้ หากว่าจะเป็นการละเมิดบทกฎหมายใด ๆ ก็ดี ห้ามมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายเลย (มาตรา 3  พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2475)  และ
- ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด ไม่ว่าผู้นั้นจะได้รับโทษตามคำสั่งดังกล่าวอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้ บังคับหรือไม่ก็ตาม ก็ให้พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (กรณี พล.อ.ฉลาด) และ
- ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น
- ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง ปล่อยตัวไป เช่น ในพรบ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521 มาตรา 4  ให้ศาลทหารกรุงเทพดำเนินการปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดซึ่งถูกฟ้องในคดีหมายเลข ดำที่ 253 ก/2520 ของศาลทหารกรุงเทพ (ใช้กฎ 6 ต.ค. 19) และให้ศาลอาญาดำเนินการปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดซึ่งถูกฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 4418/2520 ของศาลอาญา
บรรดาการกระทำที่เป็นเหตุให้จำเลยถูกฟ้องใน คดีตามวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 3 และการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้จำเลยพ้นจากความผิดและความรับผิดด้วย
ดังนั้นเมื่อสำรวจกฎหมายนิรโทษกรรมตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา อาจตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่า การก่อการกบฏ การก่อจราจล การรัฐประหาร การเดินขบวนเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญหรือการชุมนุมเรียกร้องให้มีการเปลี่ยน แปลงทางการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย ล้วนเป็นคดีการเมืองทั้งสิ้น การไม่เอาผิดแก่ผู้ชุมนุมเรียกร้องหรือดำเนินการทางการเมืองเพื่อให้ได้มา ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย ต้องถือว่าเป็นการกระทำทางการเมือง หากการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ หรือกระทำความผิดทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียกร้องประชาธิปไตย ต้องถือเป็นการกระทำทางการเมือง ที่ต้องพิจารณาให้ได้รับการนิรโทษกรรมทางการเมืองทั้งสิ้น
แม้แต่นายทหารที่มิได้ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ที่พยายามยึดอำนาจรัฐด้วยการก่อการกบฏ ก็ยังถือเป็นคดีการเมืองที่ได้รับการนิรโทษกรรม จึงไม่มีเหตุผลใดที่การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มนปช. หรือกลุ่มพันธมิตรฯ หากมีความผิดตามกฎหมาย ก็สมควรได้รับการนิรโทษกรรมทั้งสิ้น เสมอภาคกัน ทั้งนี้อาจสอดคล้องกับการเหตุผลของกฎหมายนิรโทษกรรมในอดีตที่ต้องเร่งจัดให้ มีขึ้นเพราะ “ความสามัคคีของชนในชาติจึงเป็นสิ่งจำเป็นและรีบด่วนที่จะต้องสร้างสรรให้มี ขึ้นให้จงได้ การดำเนินการทางคดีต่อไปมีแต่จะก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนยิ่งขึ้น ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และจะทำให้กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศในที่สุด”[7]


[1] รวบรวมและเรียบเรียงโดย ศราวุฒิประทุมราช ผู้อำนวยการสถาบันหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน
[2] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ณ วันที่ 1 ตุลาคม พุทธศักราช 2549  ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123/ตอนที่ 102 ก/1 ตุลาคม 2549]
[3] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 94/ตอนที่ 121/ฉบับพิเศษ หน้า 1/3 ธันวาคม 2520
[4] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 95/ตอนที่ 97/ฉบับพิเศษ หน้า 1/16 กันยายน 2521
[5] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98/ตอนที่ 69/ฉบับพิเศษ หน้า 1/5 พฤษภาคม 2524
[6] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 106/ตอนที่ 142/ฉบับพิเศษ หน้า 4/30 สิงหาคม 2532
[7] พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524 พ.ศ. 2524 , อ้างแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น