แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2556

นักข่าวพลเมือง: งานวิจัยเรื่องบทบาทสื่อกับความขัดแย้งชายแดนใต้ได้รางวัลวิจัยดีเด่น

ที่มา ประชาไท


เปิดบทความวิจัยดีเด่น สาขาวิเทศศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ “ความดราม่าและเร้าอารมณ์ ของการนำเสนอข่าว ไม่ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้น”สืบเนื่องจากงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 1 วันที่ 10-12 มกราคม 2555 จัดโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต คณะกรรมการได้ทำการคัดเลือก บทความวิจัยดีเด่น หลากหลายสาขา โดยบทความดีเด่นด้านวิเทศศึกษา สังคมศาสตร์ และมนุษย์ศาสตร์ (International Studies, Social Science and Humanity)  ได้แก่บทความ “Peace Journalism: How Thai Journalism applied it in A case study of violent conflict in Southern border provinces”  นำเสนอ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วลักษณ์กมล จ่างกมล อาจารย์ประจำ คณะวิทยาการการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ผศ.วลักษณ์กมล ได้ทำการศึกษาลักษณะการนำเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์ประเภทต่างๆที่ตีพิมพ์ข่าวและบทความเกี่ยวกับความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยสามารถสรุปลักษณะสำคัญของการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความขัดแย้งในพื้นที่ได้ดังนี้
1.หนังสือพิมพ์พยายามนำเสนอเหตุการณ์ในลักษณะรายงานข่าวในลักษณะปรากฏการณ์แยกขาดและละเลยบริบทโดยรอบ เช่นการมุ่งประเด็นที่เหตุการณ์ความรุนแรงเพียงลำพัง มิได้ฉายภาพผลกระทบทางสังคมหรือเงื่อนไขสะสมที่ก่อให้เกิดความรุนแรงดังกล่าว ลักษณะการนำเสนอข่าวโดยมากเป็นการนำเสนอข่าวสารด้านเดียว จากตัวแทนรัฐบาล บุคคลสาธารณะ ทหารระดับสูง หรือ นักการเมืองมากกว่าบุคคลทั่วไปที่อยู่ในพื้นที่จริง
2.ปัญหาความขัดแย้งภาคใต้ถูกนำเสนอผ่านประเด็นความรู้สึกและการปลุกเร้าอารมณ์ จากการศึกษาพบว่าการปลุกเร้าอารมณ์ผ่านการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ และการทำให้เป็นปีศาจร้าย ถูกผลิตซ้ำต่อเนื่องในการนำเสนอข่าว อันเป็นการสร้างเงื่อนไขการนำเสนอข่าวในรูปแบบของ “การทำสงคราม” มากกว่าการสร้างสันติ พิจารณาได้จากคำที่ใช้เร้าอารมณ์ความรู้สึกที่ปรากฏบ่อยครั้งเช่น กราดยิง ฆ่าโหด สังหารหมู่  ซึ่งเป็นคำที่ทำให้บรรยากาศความร่วมมือย่ำแย่ลง เช่นเดียวกับภาษาที่มีการสร้างความเป็นปีศาจร้าย เช่น มุสลิมหัวรุนแรง โจรใต้ ผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิม ทั้งหมดเป็นไปเพื่อเป้าหมายในการดึงดูดผู้อ่านผ่านระบบการสร้างข่าวให้มีสีสัน เร้าอารมณ์ และสร้างความ ‘ดราม่า’ สิ่งเหล่านี้ทำให้ข่าวขายได้แต่มิทำให้ความขัดแย้งคลี่คลายลงแต่อย่างใด
3.ข่าวที่มีข้อมูลครบถ้วนและสร้างความเข้าใจลึกซึ้งไม่เป็นที่นิยมสำหรับการนำเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์ส่วนกลาง  ข่าวถูกทำให้ง่ายต่อการเข้าใจของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มจะเชื่อและเลือกข้าง การเขียนข่าวของนักข่าวในประเทศไทยมักใช้เวลากับการบรรยายข้อเท็จจริงมากกว่าเปิดพื้นที่ให้นักข่าวได้วิเคราะห์เชิงเหตุผล รวมถึงการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกกับผู้อ่าน
หลังจากเสร็จสิ้นการนำเสนอได้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบเครือข่ายสังคมจะเป็นการกระจายช่องทางการสื่อสารสู่คนระดับท้องถิ่นเพื่อถ่ายทอดประเด็นของตนเองสู่ส่วนกลางได้หรือไม่ ผศ.วลักษณ์กมลให้ความเห็นว่าข้อเท็จจริงสำคัญคือผู้เข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ในประเทศไทยยังมิใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ และโดยมากเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่ซึ่งนับว่าเป็นผู้ที่ไม่ได้สัมผัสปัญหาความรุนแรงโดยตรง นอกจากนี้ปัญหาสำคัญคือแม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าแต่หากเนื้อหาและแนวทางการนำเสนอข่าวไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม ก็จะก่อให้เกิดผลแบบเดียวกัน ดังที่จะเห็นจากการ แชร์รูปเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดน ด้วยถ้อยคำที่เกินจริง เร้าอารมณ์ความรู้สึก ขาดบทวิเคราะห์ ในด้านนี้เทคโนโลยีจำเป็นต้องมาคู่กับวุฒิภาวะของผู้นำเสนอข่าว หรือกระทั่งผู้ใช้เทคโนโลยีต่างๆ
ในช่วงท้ายได้มีผู้เข้าร่วมรับฟังให้ความเห็นว่า แม้ข้อเสนอเรื่องแนวทางการนำเสนอข่าวเพื่อสร้างสันติภาพจะมาจากทางตะวันตกอันแตกต่างจากลักษณะการเสนอข่าวของสื่อกระแสหลักของไทย แต่แนวคิดการต่อต้านมุสลิมก็มาจากโลกตะวันตกหลังเหตุการณ์ 9/11 เช่นกัน หากพิจารณาในแง่มหภาคผลสัมฤทธิ์ของการเสนอข่าวลักษณะนี้จะสามารถคาดหวังได้เพียงใด โดย ผศ.วลักษณ์กมล ให้ความเห็นว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ปัจจัยภายนอกประเทศมีผลต่อความเข้าใจต่อชามุสลิม แต่สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือสังคมตะวันตกเองก็มีพลวัตภายใน มีทั้ง Peace Journalism และ War Journalism เช่นเดียวกับสังคมไทย ประชาชนสามารถถูกเร้าอารมณ์ได้ด้วยความเกลียดชังไม่ต่างกัน ในงานวิจัยนี้อาจไม่ได้ฉายภาพให้เห็นเต้นเหตุในระดับมหภาค แต่มุ่งชี้ให้เห็นทางออกในระดับจุลภาคว่า เหตุผล ความเคารพในมนุษย์ และการนำเสนอรอบด้าน จะเป็นหนทางสู่การสร้างสันติมากกว่า การลดค่าความเป็นมนุษย์ ปลุกเร้าอารมณ์เกลียดชัง และ ‘ความดราม่า’
อนึ่งบทความ “Peace Journalism: How Thai Journalism applied it in a case study of violent conflict in Southern border provinces” ได้นำเสนอในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 1  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และได้รับการคัดเลือกเป็นบทความวิจัยดีเด่นประเภทบุคคลทั่วไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น