แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556

ฤาการทุบอาคารศาลฎีกา เพื่อสาปให้ "สถาปัตยกรรมคณะราษฎรนั้นสูญพันธุ์"

ที่มา Thai E-News

 โดย เพ็ญ ภัคตะ

 ชื่อบทความเดิม "อาคารศาลยุติธรรมของไทย ได้ต้นแบบมาจากสวิตเซอร์แลนด์?"


กระแสต่อต้านการรื้อกลุ่มอาคารศาลฎีกา สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นโดยคณะราษฎรเพื่อสร้างใหม่ เกิดการตื่นตัวเคลื่อนไหวขึ้นในหมู่คนรักประชาธิปไตย ตลอดช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้


หรือใจคอ ต้องการสาปให้สถาปัตยกรรมคณะราษฎรนั้นสูญพันธุ์อันตรธานหายไป อย่าได้มาลอยหน้าลอยตาอยู่บนแผ่นดินสยาม ด้วยการยัดเยียดวาทกรรม "สถาปัตยกรรมแบบฟาสซิสต์" ฝังสมองคนในชาติซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า 


ศาลสูงที่โลซานน์

โดยที่ทางศาลได้ดำเนินการทุบอาคารไปแล้ว เริ่มจากศาลอาญากรุงเทพใต้ (ฝั่งถนนราชินี ริมคลองหลอด) ซึ่งเป็นอาคารเชื่อมต่อกับอาคารศาลยุติธรรม เนื่องจากตั้งบนผังรูปตัว V ที่หักไปสู่ถนนราชดำเนินใน
อาคารศาลบนผังรูปตัววี
การรื้อสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในยุคประชาธิปไตยแบ่งบานที่สุดใน สยาม (ระหว่างปี พ.ศ.2475-2490) มองมุมหนึ่งคล้ายจงใจทำลายสัญลักษณ์ของอุดมการณ์ทางการเมือง ที่คณะราษฎรสร้างฝากไว้เป็นอนุสรณ์

อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงเปลี่ยนผ่าน ได้จุดประกายเรื่องนี้ไว้อย่างเข้มข้นจนตกผลึกยิ่ง ด้วยคำถามหลายประเด็น อาทิ

จริงหรือที่ว่าโครงสร้างอาคารศาลนั้นเริ่มผุพัง ก็ในเมื่อเพิ่งสร้างไม่ถึง 100 ปี ซ้ำยังเป็นอาคารแบบคอนกรีตเสริมเหล็กสมัยใหม่

จริงหรือที่รูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมนั้นแข็งกระด้าง ไม่สอดคล้องกลมกลืนกับบรรยากาศรายรอบทุ่งพระเมรุ ที่ต้องเน้นแต่การ "สวมมงกุฎบนหลังคา ใส่ชฎาครอบอาคาร" ที่คิดกันเองว่าต้องแบบนี้เท่านั้น จึงจักสะท้อนถึงอัตลักษณ์ "ความเป็นไทย"

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยปรามาสศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในยุคที่ปกครองโดยคณะราษฎรว่า เป็นศิลปะของพวกฟาสซิสม์ แข็งทื่อ ขาดความวิจิตร ไร้รสนิยม จึงเป็นตัวตั้งตัวตีออกรณรงค์ให้รื้อทุบกลุ่มอาคารของคณะราษฏรให้หมดไปจาก สยามประเทศ

จริงหรือไม่ ที่สถาปัตยกรรมของคณะราษฎร์เป็นฟาสซิสม์?


ศาลยุติธรรม สถาปัตยกรรมแนวนิยมประชา
สู่นานาสากล Bauhuas & International Style

ประวัติความเป็นมาของการก่อสร้างอาคารกระทรวงและศาลยุติธรรม ระบุไว้ชัดในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ "นายกฯ ลิ้นทอง" พิมพ์เมื่อปี 2532

กล่าวถึงสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่ายุคนั้นได้มีมติ ครม.ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2482 เป็นคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาออกแบบ อาคารของกระทรวงและศาลยุติธรรม

โดยมี นอ.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ยศ ขณะที่เป็นรมต.ยุติธรรม) เป็นประธาน พระยารักตประจิตธรรมจำรัส ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นรองประธาน และมีกรรมการอีก 6 คนคือ หลวงจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์ พระสาโรชรัตนนิมมานท์ หลวงธรรมนูญวุฒิกร นายหมิว อภัยวงศ์ นายเอฟ.บิสโตโน และหลวงบุรกรรมโกวิท

คณะ กรรมการมีมติเห็นชอบให้ส่ง หลวงจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์ เป็น ตัวแทนไปศึกษาดูแบบตัวอย่างอาคารกระทรวงและศาลยุติธรรมในหลายๆ ประเทศ(ไม่ระบุว่ามีประเทศใดบ้าง) จนในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า อาคารศาลยุติธรรมของประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้นสวยงามเรียบง่ายเป็นศรีสง่า เหมาะสมที่จะจำลองแบบมาสร้างมากที่สุด

นอ.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ มอบหมายให้ พระสาโรชรัตนนิมมานท์ หัวหน้ากองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร เป็นผู้เขียนแบบอาคาร

ข้อความโดยรวมที่กล่าวถึงเรื่องการก่อสร้างอาคารกระทรวงและศาลยุติธรรมใน หนังสือเล่มดังกล่าวมีคร่าวๆ เพียงเท่านี้ ไม่มีการระบุแม้กระทั่งชื่อ

เมืองอันเป็นที่ตั้งของศาลในสวิตเซอร์แลนด์ด้วยซ้ำ อีกทั้งมิได้มีภาพเปรียบเทียบสถาปัตยกรรมต้นแบบ

ในที่นี้ ดิฉันจึงขอเสริมข้อมูลด้านดังกล่าวที่ขาดหายไปจากการรับรู้ของสังคมไทย ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ด้านรูปแบบสถาปัตยกรรมระหว่างอาคารศาลไทยกับศาล ที่สวิตเซอร์แลนด์

อาคาร "ศาลสูงแห่งสมาพันธรัฐสวิส" หรือที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า "Le Tribunal Fédéral de la Suisse” นั้นตั้งอยู่ที่เมืองโลซานน์ ริมทะเลสาบเลมอง

สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ปกครองแบบกระจายอำนาจให้แก่เมืองต่างๆ โดยเท่าเทียมกัน ดังนั้นสถานที่สำคัญจึงไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่ในนครหลวงคือกรุงเบิร์นเพียง เมืองเดียว จริงอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล และตึกรัฐสภาตั้งอยู่ที่เบิร์น แต่ทว่าศาลโลก และสภากาชาดสากลกลับตั้งอยู่ที่เจนีวา

ธนาคารโลกตั้งอยู่ที่ซูริค หอศิลป์ระดับชาติตั้งอยู่ที่บาเซิล ศูนย์การประชุมนานาชาติตั้งอยู่ที่เมืองดาวอส เช่นเดียวกับสภาโอลิมปิกสากล และศาลสูงแห่งสมาพันธรัฐสวิส ก็ตั้งอยู่ที่เมืองโลซานน์เช่นกัน

สถาปัตยกรรม แห่งนี้สร้างขึ้นภายใต้หลักคิดว่าด้วยวาทกรรม "Lex Justitia Pax" หรือ "Loi Justice Paix" ในภาษาฝรั่งเศส ถอดเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า "Law Justice Peace" แปลเป็นไทยอีกทีคือ "ตราชู คู่ยุติธรรม นำไปสู่สันติภาพ"

สถาปนิก ชื่อดังชาวสวิส อัลฟองโซ ลาแวร์ริแยร์ (Alphonse Laverrière) เป็นผู้ออกแบบเมื่อปี 1922 (พ.ศ. 2465) ด้วยรูปแบบ "นีโอคลาสสิก"ตอนปลายๆ จึงยังคงมีปูนปั้นรูปเทพีผู้พิทักษ์ความยุติธรรมประดับในกรอบแผ่นสามเหลี่ยม หน้าจั่วอยู่ อันเป็นผลงานของประติมากร Carl Angst

ในเมื่อต้นแบบ อาคารศาลยุติธรรมของไทยที่โลซานน์นั้นเป็นศิลปะแบบ "นีโอ คลาสสิก" เหตุไฉนอาคารกระทรวงและศาลยุติธรรมที่ริมคลองหลอด กลับถูกประณามว่าเป็นรูปแบบ "ฟาสซิสต์" แข็งกระด้างเหมือนค่ายทหารของจอม เผด็จการเล่า?

พิจารณาเปรียบเทียบสถาปัตยกรรมทั้งสองแห่งแล้วเห็นว่า หลวงจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์ ผู้ได้รับมอบหมายให้ไปตระเวนศึกษารูปแบบอาคารศาลต่างๆ หลายแห่งของยุโรปนั้น คงมิได้ถ่ายแบบศิลปะนีโอคลาสสิกของศาลที่เมืองโลซานน์มาไว้ที่เชิงสะพานผ่าน พิภพลีลา ชนิดจำลองต้นแบบมาร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม

ทว่ามีการผสมผสาน ศิลปกรรมสมัยใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมแทนที่ศิลปะนีโอ คลาสสิกในยุคนั้น ได้แก่ ศิลปะร่วมสมัยสไตล์ "เบาเฮาส์" (Bauhaus) อันมีต้นกำเนิดในแถบเยอรมนี-สวิตเซอร์แลนด์ และกำลังแบ่งบานส่งอิทธิพลให้แก่สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ สไตล์นานาชาตินิยม(International Style) ในยุคที่หลวงจักรปราณีศรีศิลวิสุทธิ์เดินทางท่องยุโรปช่วง ปี 2482 พอดี

โดยเฉพาะสถาปนิกสวิสผู้มีนามว่า "ฮานส์ เมเยอร์" (Hannes Meyer) นั้น เป็นผู้อำนวยการสถาบันเบาเฮาส์ลำดับที่สองต่อจาก "วอลเทอร์ โกรปิอุส" (Walter Gropius) ฮานส์ เมเยอร์ ผู้นี้เองที่ได้นำรูปแบบสถาปัตยกรรมแนวใหม่มาสถาปนาในมาตุคามหลายแห่งรวมถึง โลซานน์ด้วย

หัวใจของสถาปัตยกรรมสไตล์ Bauhaus คือการเน้นโครงสร้างเครื่องคอนกรีตแบบ เรียบง่าย ตัดทอนเครื่องทรงอันรกรุงรัง ไม่มีการประดับประดาลวดลายปูนปั้นในกรอบหน้าบัน หรือบัวหัวเสาใดๆ อีกต่อไป เน้นประโยชน์ใช้สอย เป็นสถาปัตยกรรมแบบ "ประชา(ธิปไตย)นิยม" หรือ "นิยมประชา" ในช่วงต้นคริสต์ ศตวรรษที่ผ่านมา สร้างแรงสะเทือนส่งอิทธิพลจนเป็นที่นิยมไปทั่วโลกตราบถึงทุกวันนี้

การลงดาบตัดสินประเมินคุณค่าว่า สถาปัตยกรรมของคณะราษฏรคือสไตล์ศิลปะแบบฟาสซิสต์นั้นเกิดขึ้น จาก "โมหาคติ" ล้วนๆ ในความเป็นจริงก็คือ สถาปัตยกรรมสมัยใหม่นี้ก่อกำเนิดขึ้นมาจากรากฐานประชาธิปไตยโดยยึดความนิยม ของประชาชนรากหญ้าเป็นพื้นฐาน

ข้อสำคัญสถาบันเบาเฮาส์ ยังได้ถูกฮิตเลอร์นาซีจอมเผด็จการกดขี่ขับไล่จนต้องปิดตัว โทษฐานที่มาชี้ช่องให้ประชาชนหูตาสว่าง ศิลปินและสถาปนิกต้องลี้ภัยฟาสซิสต์ แตกสานซ่านเซ็นออกจากเยอรมันนีมาสุมตัวกันอยู่แถบซูริก บาเซิล และปารีส แทน

หันมามองอาคารกระทรวงและศาลยุติธรรมของไทย แม้นจะอ้างว่าได้จำลองรูปแบบความสง่างามและเรียบง่ายมาจากสวิตเซอร์แลนด์ แต่ทว่าในความเป็นจริงนั้น กลับมีการหยิบยืมเอาหัวใจของ "เบาเฮาส์" เข้ามาเจือนีโอคลาสสิกชนิดแนบเนียนยิ่งนัก

กล่าวคือ การทำขั้นบันไดจำนวนมากเรียงถี่ๆ ทางด้านหน้านำไปสู่ "มุข" หลักของอาคารก็ดี หรือการจัดวางช่วงเสาเรียงรายที่ประตูทางเข้าช่วงกลางก็ดี การขัดแต่งผิวอาคารที่สร้างด้วยหินเหลือบสีสลับกันก็ดี รวมไปถึงการเจาะช่องหน้าต่างแต่ละชั้น ด้วยกรอบสี่เหลี่ยมที่มีขนาดลดหลั่นกันไป จากชั้นบนกรอบหน้าต่างยืดยาวมาก ชั้นสองลดความสูงลง และชั้นล่างสุดเกือบเป็นกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัส ล้วนเป็นการถ่ายแบบมาจากศาลสูงเมืองโลซานน์ทั้งสิ้น
อีกด้านของศาลสูงสวิตเวอร์แลนด์ที่โลซานน์

แต่สิ่งที่ศาลยุติธรรมไม่รับอิทธิพลมาจากนีโอคลาสสิก ก็คือการไม่ทำแผ่นสามเหลี่ยมหน้าจั่วประดับปูนปั้นแบบกรีก การใช้แท่งเสาสี่เหลี่ยมไร้บัวหัวเสาแทนที่เสากลม หลังคาไม่ยกสูง แต่กลับตัดแบนราบ อีกทั้งการไม่ตกแต่งกรอบคิ้วบานหน้าต่างเป็นเส้นนูน การใส่บานกระจกแทนการใช้บานหน้าต่างผลักแบบ French Window ซ้ำบางจุดยังตกแต่งด้วยลูกกรงเหล็กดัดนั้น สะท้อนชัดว่าได้รับอิทธิพลแนวคิดจากลัทธิเบาเฮาส์ที่กำลังนิยมในสวิตฯมาผสม ผสานกันอย่างลงตัว

ด้านนี้คือเสาหกต้น อยู่หลังอนุสาวรีย์พระบิดาแห่งกฎหมายไทย

 สอดคล้องกับอุดมการณ์ของคณะราษฎร ที่ต้องการตัดทอนความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเรื่ององค์ประกอบสถาปัตย์ที่ไม่ จำเป็นออกไป ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในยุคที่เพิ่งจะฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก มาได้หมาดๆ การก่อสร้างดำเนินขึ้นระหว่างปี 2482-2486แต่หมดเงินไปไม่ถึงล้านบาท

มูลเหตุแห่งการเลือกรูปแบบของ ศาลสูงที่เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์มาสร้างนั้น นอกเหนือไปจากความประทับใจในความงามสง่าเรียบง่ายแล้ว หลักฐานด้านเอกสารก็ไม่ได้ระบุเหตุผลอื่นๆ รองรับ ดิฉันจึงสันนิษฐานเพิ่มเติมว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลไทยต้องการเดินตามรอยสมาพันธรัฐสวิส ประเทศที่ประกาศตัวเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เป็นเสรีประชาธิปไตยต้นแบบที่ไม่เอาเผด็จการ

ทุกครั้งที่อ้างเหตุผลว่าต้องการรื้ออาคารศาล ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะมีการกล่าวทบทวนถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์เชิง สถาปัตยกรรมแบบเบาเฮาส์ผสมนีโอคลาสสิค ที่เชื่อมโยงมาจากประเทศแม่แบบประชาธิปไตย สวิตเซอร์แลนด์ กับอุดมคติของคณะราษฎร

หรือ ใจคอ ต้องการสาปให้สถาปัตยกรรมคณะราษฎรนั้นสูญพันธุ์อันตรธานหายไป อย่าได้มาลอยหน้าลอยตาอยู่บนแผ่นดินสยาม ด้วยการยัดเยียดวาทกรรม "สถาปัตยกรรมแบบฟาสซิสต์" ฝังสมองคนในชาติซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า

จากคอลัมน์ "ปริศนาโบราณคดี" มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 1690 มกราคม 2556

บทความในมติชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น